xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” พร้อมรับมือก๊าซฯ ยาดานาหยุด 25-28 ก.พ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.จัดประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมพร้อมรองรับกรณีหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จากแหล่งยาดานาของพม่า ระหว่าง 25-28 กุมภาพันธ์ 2559 เชื่อมั่นไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเนื่องจากยังอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่สูงมาก พร้อมขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าเสริมอีกทางหนึ่ง

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากพม่า ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อันประกอบด้วย สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก และ กฟผ. ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. บางกรวย นนทบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมกับการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรก ของปี 2559 จากแผนการหยุดจ่ายก๊าซที่มีจำนวนมากกว่า 15 ครั้ง ในปี 2559

ทั้งนี้ กรณีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาของสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อเชื่อมต่อแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบาดัมยาร์ (Badamyar) ซึ่งเป็นหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติใหม่ของแหล่งยาดานาทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากประเทศสหภาพเมียนมา หายไปจากระบบวันละประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง (NGV) และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ กฟผ. และ บมจ.ปตท.ได้ร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศน้อยที่สุด

โดยในส่วนของภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากสหภาพเมียนมาประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน บมจ.ปตท.จะดำเนินการเก็บก๊าซธรรมชาติไว้ในท่อ (Pack Line) เพื่อให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่อง สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในฝั่งภาคตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรี จำกัด โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 3 ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ส่วนใหญ่ต้องหยุดเดินเครื่องแล้วไปผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นแทน และมีบางส่วนที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเพื่อเดินเครื่องรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าตามความจำเป็น

“กฟผ.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ทุกด้าน ตั้งแต่ด้านระบบผลิต ให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือชุดที่ 1 และ 2 เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออก ประสานงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ได้รับผลกระทบให้มีความพร้อมเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลแทน สำรองน้ำมัน เตาประมาณ 34.8 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลประมาณ 8.1 ล้านลิตร ตรวจสอบและหยุดการบำรุงรักษาระบบส่งในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะไม่กระทบต่อการจ่ายไฟใดๆ แต่ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้า หรือใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย” รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น