การเกิดขึ้นของธุรกิจในเครือศรีราชเทพประทาน เมื่อปี 2520 โดยการก่อตั้งของ นายสมควร นกหงษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี นักธุรกิจชื่อดังแห่งภาคตะวันออก ผู้ผันตัวเองจากชาวนาในวัย 35 ปี มาเริ่มสร้างตัวด้วยการขายฝรั่งดอง จนกลายเป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าในรูปแบบดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่ทันสมัย ที่มีบันไดเลื่อนเป็นแห่งแรกในจังหวัดชลบุรี ภายใต้ชื่อห้างฯ แหลมทอง ศรีราชาในปี 2527 พร้อมขยายธุรกิจขนส่งและขยายสาขาห้างฯ อีกหลายแห่ง ดูเหมือนจะเป็นภาพธุรกิจที่สดใส หากไม่เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2540 จนนำมาสู่การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ครั้งนั้นชื่อของ “ปราการ นกหงษ์” บุตรชายคนโต เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักการธนาคาร และซัปพลายเออร์ต่างๆ ที่ต้องทำการค้ากับห้างฯ แหลมทอง เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนักทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แอลที กรุ๊ป อีกด้วย
คุณปราการบอกว่าในยุคที่กลุ่มศรีราชเทพประทานเติบโตในธุรกิจค้าปลีก ภาพของศรีราชเทพประทาน คือธุรกิจขนาดกลางที่มีแนวทางที่จะพัฒนาให้เติบใหญ่ขึ้นได้ แต่เพราะการขยายตัวที่รวดเร็วเกินไป และไม่ได้มีการวางแผนรับมือกับทุนค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งจากส่วนกลางและต่างชาติที่รุกเข้ามาพร้อมๆ กันตั้งแต่ช่วงปี 2539 รวมทั้งผลกระทบจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540
“ปี 2540 กลุ่มโลตัสเริ่มขยายสู่ต่างจังหวัดและเปิดสาขาพัทยา เป็นแห่งแรกที่มีทุกอย่างครบ พอเห็นเรารู้เลยว่าสิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่เราทำมันคนละเรื่องกัน เขาเป็นฝรั่งที่มาทำการค้าแข่งกับคนที่ทำหาบเร่ ขณะเดียวกัน กลุ่มศรีราชานครก็ดึงโรบินสันเข้ามาเปิดในศูนย์การค้าแปซิฟิค พาร์ค คู่แข่งเรามาพร้อมกันหมด ในปีนั้นเราก็ใช้เงินลงทุนเยอะกับการเปิดสาขาใหม่ที่จังหวัดระยอง และยังเจอบิ๊กซี ระยองที่มาเปิดอีก สุดท้ายเงินที่จะหมุนไปจ่ายซัปพลายเออร์ก็เริ่มติดขัด ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินตึงมือ จนนำมาสู่มหากาพย์การปิดธุรกิจ”
ครั้งนั้น ศรีราชเทพประทานตัดสินใจปรับลดโครงสร้างทางธุรกิจทั้งหมดเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยเลือกที่จะปิดห้างฯแหลมทอง สาขาแหลมฉบังและศรีราชา เพื่อตีโอนชำระหนี้ให้ธนาคาร ก่อนที่จะสามารถซื้อคืนกลับมาในภายหลัง โดยในช่วงวิกฤตใหญ่เหลือเพียง 2 ห้างฯ ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ คือ สาขาบางแสน และสาขาระยอง แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ศรีราชเทพประทาน กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ติดปัญหา NPL ในยุคฟองสบู่แตก
“เมื่อธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จเราต้องยุติการดำเนินงานของศรีราชเทพประทานในการทำธุรกิจและตั้ง แอลที กรุ๊ป ขึ้นมาให้เพื่อดำเนินธุรกิจตัวอื่นให้เดินไปได้ ซึ่งทุกวันนี้ธุรกิจที่เกิดจาก ศรีราชา เทพประทาน ก็ยังมีอยู่เพียงแต่เติบโตแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท”
เมื่อไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้น คุณปราการ นกหงษ์ และบิดา เริ่มเดินหน้าเจรจากับธนาคาร เพื่อขอให้ช่วยออกหนังสือเงินค้ำประกัน (LG) สำหรับสั่งซื้อสินค้า ก่อนเดินสายเจรจากับเหล่าบรรดาซัปพลายเออร์ทั้งหลาย เพื่อให้นำสินค้ากลับมาให้วางจำหน่ายอีกครั้ง ซึ่งโชคดีที่ธุรกิจการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกมีส่วนช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประกอบกับเริ่มเรียนรู้และวางแผนการรับมือกับคู่แข่งขันทางธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น จึงทำให้วงจรธุรกิจที่เคยหยุดหมุนไปกลับมาหมุนอีกครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น แอลที กรุ๊ป ยังได้ขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้จากแบงก์พาณิชย์รอบใหม่ เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจจากดีพาร์ตเมนต์สโตร์ สู่ ซูเปอร์สโตร์ ที่เข้าใกล้ลูกค้าได้มากกว่า ภายใต้ชื่อ “saveland” พร้อมเปิดสาขาแรกที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง, อำเภอบ้านบึง และพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
จากนั้นในปี 2543 ได้เปลี่ยนชื่อ “saveland’ บางแสน ให้กลับมาเป็นห้างฯ แหลมทองบางแสนอีกครั้ง และปรับรูปแบบการขายจากการเป็นผู้ขายเอง มาเป็นให้เช่าพื้นที่เพราะมองว่าการทำธุรกิจในรูปแบบที่ต้องขายเอง ไปไม่รอด และไม่มีทางชนะคู่แข่งจากส่วนกลางที่มีทุนมากกว่าได้
“ก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 กำไรของเรามาจากธุรกิจดีพาร์ตเมนต์สโตร์ และซูเปอร์มาร์เกตถึง 85 % ส่วนรายได้จากพื้นที่ให้เช่ามีเพียง 15% แต่เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปเราต้องปรับรูปแบบใหม่ด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อได้เปรียบด้านทำเล มาสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมนำห้างฯแหลมทอง ศรีราชา ที่เคยตีโอนให้แบงก์จนต้องปิดตัวนานถึง 4 ปี กลับมาพัฒนาเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าไอทีใช้ชื่อว่า ตึกคอม ศรีราชา ด้วยงบดำเนินงานที่น้อยมาก และเชิญพันธมิตรจาก พันธ์ทิพย์พลาซ่าเข้าร่วม ซึ่งมันบังเอิญมากที่เราปรับโฉมธุรกิจได้ถูกกับจังหวะและเวลา จึงทำให้ชื่อของ ตึกคอม ศรีราชา บูมกว่าที่คิดไว้มาก”
วันนี้ แอลที กรุ๊ป กลับมาผงาดในแวดวงธุรกิจภาคตะวันออกอีกครั้ง โดยมีธุรกิจหลักในเครือ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ธุรกิจศูนย์การค้าใต้ 3 แบรนด์ คือ ตึกคอม, ฮาร์เบอร์ และแหลมทอง บางแสน
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ธุรกิจที่พักอาศัยให้เช่าในลักษณะเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และโรงแรม มี 2 แห่งที่ศรีราชา คือ บัลโคนี คอร์ตยาร์ต และ บัลโคนี ซีไซต์ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ และคนไทยที่มีกำลังซื้อระดับบน
ธุรกิจที่ 3 คือ ออฟฟิศ-สำนักงานให้เช่า ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่งคือ ที่ ฮาร์เบอร์ ออฟฟิศ แหลมฉบัง และออฟฟิศสแควร์ ตึกคอม ชลบุรี ธุรกิจที่ 4 ป้ายบิลบอร์ดให้เช่า ทั้งในภาคตะวันออกและอีสาน ที่มีประมาณ 400 ป้ายและกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นจอ LED
กลุ่มธุรกิจที่ 5 ธุรกิจกลุ่มใหม่ล่าสุด คือเป็นธุรกิจสวนสนุกในร่มแบบต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Harbor Land, Jump XL, Deep และ Snow Land
“ โดยในปีนี้เรามีการขยายธุรกิจศูนย์การค้าแบรนด์ ฮาเบอร์ เพิ่มอีก 1 สาขา คือ Harbor Pattaya โดยใช้ธีมเป็นศูนย์การค้าสำหรับครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้คอนเซปต์ The Family Paradise ให้ฮาร์เบอร์ พัทยา เป็นดินแดนแห่งความสุขของทุกคนในครอบครัว
เราได้ขยายธุรกิจในกลุ่มที่ 5 คือ Indoor Playground ภายใต้ชื่อ Harbor Land สวนสนุกในร่มระดับโลก ที่จะมีผู้ผลิตเครื่องเล่นระดับโลกเบอร์ 1 และ 2 จากยุโรปเข้าร่วมลงทุน และจะมีเพลย์โซนอื่นๆอีก 9 โซน “Jump XL” Trampoline Park, “Deep” ปีนหน้าผาจำลองใต้ทะเลลึก, “Kidzoona & Molly Fantasy” สวนสนุกเด็กเล็กจากประเทศญี่ปุ่น, “Mario Land” โซนเกมอาเขต, “The Rink” ไอซ์สเก็ตมาตรฐานระดับโลก (เปิดตุลาคม), “Snow Land” เมืองหิมะ (เปิดตุลาคม), “Baby Pool” สระว่ายน้ำสำหรับเด็กเล็ก (เปิดปลายปี)”, “Fitness First” (เปิดต้นปี 2560) และ “Harbor Learn & Play” โซน Edutainment ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการของเด็ก โดยเราเชื่อว่าเด็กและครอบครัวที่เข้ามาจะมีความสุขและอยากกลับมาอีก กลุ่มเป้าหมายคือครอบครัวในชลบุรี และระยอง 50% ครอบครัวชาวไทยจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20% อีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
คุณปราการบอกอีกว่า ในปี 2559 แอลที กรุ๊ป จะใช้เงินลงทุนอีก 2.75 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต่อเนื่องจากปี 2557 แบ่งเป็น ฮาร์เบอร์ พัทยา ประมาณ 2 พันล้านบาท และ บัลโคนี ซีไซต์ ในส่วนขยายที่จะเพิ่มขึ้นอีก 150 ห้อง ให้เป็น 240 ห้อง ภายใต้เงินลงทุน 750 ล้านบาท
“คำถามที่ว่าเราไปเอาเงินมาจากไหน ทำไมจึงฟื้นธุรกิจได้เร็ว เราก็อยากบอกว่าจริงๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจของเราสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องทุกปี และ แอลที กรุ๊ป ไม่เคยมีเงินจากการเมือง หรือทำธุรกิจผิดกฎหมายและเราไม่โกง นี่คือสิ่งที่เราทำมาตลอด เราฟื้นตัวเร็วเพราะธุรกิจที่ทำส่วนใหญ่เราปรับให้เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบแบ่งให้เช่าที่อยู่ในทำเลที่ถูกต้องและมีอนาคต ธนาคารจึงพร้อมให้การสนับสนุน ที่ผ่านมาธุรกิจของเรา เหมือนของเสียในมือเขามาตลอด แต่เมื่อเขาเห็นวิธีการแก้ปัญหาจากของเสียให้กลายเป็นของที่ดีจนเขามีตัวเลขการเติบโต จึงเกิดความเชื่อมั่น ตรงนี้สำคัญมากนะ ความเชื่อมั่นที่เขามีต่อการดำเนินธุรกิจของเรา ในปี 2558 เรามีรายได้มากถึง 1,500 ล้าน มีกำไรในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม แอลที กรุ๊ป ไม่รวมกับห้างฯ แหลมทอง ระยอง ที่อยู่ในการดูแลของน้องสาว และ แหลมทอง เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่อยู่ในการดูแลของน้องชาย” นายปราการกล่าว