ผู้จัดการรายวัน 360 - “กูรูการตลาด” ให้แนวทางบริหารธุรกิจยุคเปิดเออีซีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความหลากหลายของคนและสังคมด้านอายุ-เพศ-ภาษา-วัฒนธรรม-ความคิดสร้างสรรค์
ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำตลาดอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ กล่าวในการบรรยายเรื่อง “Through Diversity and Inclusive Lens” ภายในงาน TMA DAY 2016 ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ว่า การบริหารการจัดการองค์กรในยุคปัจจุบันถือว่าอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพประชากรศาสตร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ผู้นำธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารที่ผสมผสานความแตกต่างด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสร้างแบรนด์และแคมเปญการตลาดใหม่ๆ
ความหลากหลายหลักๆ ในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ อายุ, เพศ, ภาษา, วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเพื่อความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจ ดังคำกล่าวของ “ชาร์ลส์ ดาวิน” นักธรรมชาติวิทยา “...ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรง หรือฉลาดสุดที่จะอยู่รอด แต่เป็นผู้ที่สามารถจะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนั่นเองที่จะอยู่รอด”
ในส่วนของความหลากหลายด้านอายุของบุคลากรในองค์กรถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกับความหลากหลายด้านอายุของผู้บริโภค องค์กรจึงจำเป็นต้องเข้าใจภูมิหลังและการเลี้ยงดูของผู้คนในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่ยุคเบบี้บูมเมอร์, เจนเอ็กซ์, เจนวาย, มิลเลนเนียม และเจนซี ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิต แนวคิด วิธีการจัดการ และการตัดสินใจที่แตกต่างกันของผู้คนแต่ละยุค
“หากองค์กรมีความเข้าใจและสามารถผสมผสานความหลากหลายด้านอายุของผู้คนได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคิดแคมเปญการตลาดได้ตรงจุดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอย่างได้ผล โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันซึ่งสังคมไทยกำลังเริ่มมีผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ธุรกิจ หรือเจ้าของแบรนด์จะออกแบบสินค้าเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างชัดเจน ทั้งด้านความรู้ การศึกษา กำลังซื้อ ตลอดจนสุขภาพร่างกายที่ยังคงแข็งแรงสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ทำงานได้โดยไม่ยอมเกษียณอายุ”
ในแง่ของความหลากหลายด้านเพศเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากมีผลวิจัยลักษณะการทำงานของเพศหญิงและชายพบว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความละเอียดอ่อน รอบคอบ ตัดสินใจช้า แต่ไม่กล้าเสี่ยง ขณะที่ผู้ชายเป็นเพศที่มีความรวดเร็วในการตัดสินใจและกล้าเสี่ยง แต่ขาดความละเอียดรอบคอบ จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะทุจริตในการทำงานมากกว่าผู้หญิง ด้วยเหตุนี้องค์กรจึงจำเป็นต้องมีการผสมผสานบุคลากรให้เข้ากันอย่างลงตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างที่ต้องการ เช่น หากหัวหน้างานเป็นผู้หญิงก็ควรใช้พนักงานที่เป็นผู้ชาย เป็นต้น
สำหรับความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและติดต่อสื่อสารทั่วไปในยุคของการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) บุคลากรรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมนอกจากภาษาไทยและอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาจีนแมนดารินซึ่งถือว่ามีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย แม้แต่อินโดนีเซียในบางพื้นที่ ส่วนอีกภาษาหนึ่งที่อาจมีความจำเป็นในอนาคตอันใกล้ คือ ภาษาบาฮาซา (Bahasa) ซึ่งชาวมุสลิมใช้อย่างเป็นทางการในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรรวมกันเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียน
ดร.ลักขณากล่าวด้วยว่า วัฒนธรรมของแต่ละชาติในกลุ่มอาเซียนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศ ดังนั้นธุรกิจและเจ้าของแบรนด์จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดและไม่ควรมองข้าม เพราะบางประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายและข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในหลายด้านๆ เช่น ห้ามการนำเข้าหมากฝรั่ง และบุหรี่ หรือบทลงโทษอย่างหนักต่อผู้ครอบครองหนังสือโป๊ถึงขั้นประหารชีวิต รวมไปถึงการห้ามไม่ให้ผู้หญิงนั่งชี้เท้าไปทางผู้ชาย หรือแม้แต่การไม่ใช้นิ้วชี้ไปที่ผู้อื่นและสิ่งของ เป็นต้น
“ความหลากหลายด้านวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในประเทศมาเลเซียจะมีการหยุดการดำเนินกิจวัตรต่างๆ ทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 12.00-14.00 น.เพื่อให้ประชาชนทำพิธีละหมาด หมายความว่าไม่สามารถดำเนินธุรกิจใดๆ ได้ในช่วงเวลานั้น หรือหากออกแคมเปญโฆษณาในลักษณะต้องทำงานหนักเพื่อความสำเร็จในชีวิต อาจประสบความสำเร็จในไทย แต่ไม่ได้ผลในอินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียมีความเชื่อว่า ทุกคนต้องทำงานหนักเพื่อให้ครอบครัวอยู่ดีกินดี เป็นต้น”
ดร.ลักขณากล่าวอีกว่า ในส่วนของความหลากหลายด้านความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้พบกับความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องมีการค้นคว้าพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและเทคโนลี ซึ่งหากองค์กรใดมีการเปลี่ยนแปลงช้าย่อมถือเป็นจุดจบขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์ ดังเช่นกรณีของโทรศัพท์มือถือแบล็ดเบอร์รีที่ไม่มีการพัฒนาต่อยอดจนต้องล้มหายไปจากตลาด ภายหลังจากที่ไอโฟน และซัมซุงทำตลาดสมาร์ทโฟน เป็นต้น
สำหรับบุคลากรที่องค์กรยุคใหม่ต้องการมาร่วมงานด้วยนั้น หากเป็นระดับผู้นำจำเป็นต้องมี 3 คุณสมบัติคือ “เก่งงาน - เก่งคน - เก่งคิด” เพื่อให้ทันกับทุกสิ่งที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนระดับพนักงานต้องมีคุณสมบัติ “เก่ง - ดี - ทน - ถูก” หมายถึง เป็นคนเก่งและเป็นคนดี มีความอดทน สามารถรับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม โดยไม่เรียกร้องจนสูงเกินความสามารถ
ดร.ลักขณายังกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ผู้นำและพนักงานองค์กรในยุคปัจจุบันควรทำงานภายใต้หลักการทำงาน 6P ประกอบด้วย 1. Positive Thinking การมีทัศนคติเชิงบวกซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นพลังคิดที่ดีมีประโยชน์ 2. Peaceful Mind การมีจิตใจสงบเยือกเย็นเพื่อให้สามารถคิดและวางแผนงานได้อย่างรอบคอบ 3. Patience การมีความอดทนต่อสภาวะการทำงานด้านต่างๆ โดยไม่ตั้งความคาดหวังสูงเกินไป แต่สามารถที่จะรอคอยการสร้างงานและรับผลงานที่ดีมีประสิทธิภาพในอนาคต 4. Punctuality ความตรงต่อเวลาเพื่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้ทุกฝ่าย 5. Polite ความสุภาพอ่อนน้อม และ 6. Professional ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ต้องรู้จริงในสิ่งที่จะทำและต้องทำให้ดีที่สุด ทั้งยังต้องหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา