เชลล์เปิดตัวปั๊มเชลล์ วี-เพาเวอร์แห่งแรกของโลกในไทย ประเดิม 2แห่งนำร่องที่ย่านอโศก และพระราม 9 กลาง ม.ค. 59 โดยขายน้ำมันเฉพาะเกรดพรีเมียม ชูจุดเด่นด้านบริการสะดวกและรวดเร็วภายใน 5นาที และมีบริการสั่งอาหารและเครื่องดื่ม Deli Café ได้จากในรถ เผยถ้าประสบความสำเร็จก็พร้อมที่จะขยายสาขาเพิ่มในไทยและต่างประเทศ ลั่นปีหน้ารุกธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน โดยจับมือพันธมิตรเปิดร้านเบอร์เกอร์คิง และแฟมิลี่ มาร์ท
เชลล์เปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเชลล์ วี-เพาเวอร์แห่งแรกของโลกในไทย เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่มองหาน้ำมันคุณภาพสูงและการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และประทับใจ โดยมีจุดแตกต่างจากสถานีบริการทั่วไป โดยจะมีพนักงาน 2 คนต่อรถ 1 คัน และมีบริการสั่งอาหารและเครื่องดื่มของร้าน Deli Café ได้จากในรถ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยและมั่นใจให้ลูกค้าด้วยการชำระเงินผ่านเครื่อง Portable Digital Device ขณะเดียวกันก็จะมีการนำธุรกิจเสริมที่ไม่ใช่น้ำมันเข้ามาเพิ่มเติมภายในปั๊มดังกล่าวด้วย ซึ่งเชลล์จะเปิดให้บริการนำร่อง 2 สาขาที่ถนนอโศก และพระราม 9 ในกลางเดือน ม.ค. 2559
นายอิสวาน คาปิทานี รองประธานกรรมการบริหาร ธุรกิจการตลาดค้าปลีก กลุ่มบริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกไทยเป็นประเทศแรกที่เปิดสถานีบริการน้ำมันเชลล์ วี-เพาเวอร์แห่งแรกของโลก เนื่องจากไทยเป็นตลาดที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาคพื้นตะวันออก และมียอดการจำหน่ายน้ำมันเชลล์ วี-เพาเวอร์สูง จึงต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าคนไทยได้สัมผัสกับความพิเศษสุดในด้านการให้บริการ ความสะดวก รวดเร็วที่ยังไม่มีใครนำเสนอ
ส่วนจะมีการขยายสถานีบริการเชลล์ วี-เพาเวอร์เพิ่มขึ้นในไทยและต่างประเทศนั้น คงต้องดูการตอบรับของลูกค้าในปั๊มน้ำมันนำร่องทั้ง 2 แห่งเปรียบเทียบกับปั๊มน้ำมันเชลล์ทั่วไป โดยบริษัทจะมีการประเมินผลทุกๆ เดือน ซึ่งปั๊มเชลล์ วี-เพาเวอร์ดังกล่าวจะจำหน่ายน้ำมันเฉพาะน้ำมันเกรดพรีเมียม 2 ชนิด ทั้งเชลล์ วี-เพาเวอร์ ไนโตรพลัส แก๊สโซฮอล์ 95 และเชลล์ วี-เพาเวอร์ ไนโตรพลัส ดีเซล เท่านั้น ซึ่งน้ำมันเกรดพรีเมียมดังกล่าวจะแพงกว่าน้ำมันทั่วไปของบริษัทคู่แข่ง 3 บาท/ลิตร แต่เป็นระดับราคาเดียวกันกับที่จำหน่ายในปั๊มน้ำมันเชลล์
ทั้งนี้ เชลล์ได้ทำการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นทั่วโลก พบว่าผู้บริโภคที่มาใช้บริการในปั๊มน้ำมันต้องการการบริการที่ครบครัน สะดวกและรวดเร็วภายในเวลา 5นาที หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งร้อยละ 72 ของผู้บริโภคจะลดระดับความไว้วางใจในแบรนด์หากบริการไม่ได้รับความสะดวกสบาย โดยหนึ่งใน 10 อาจถึงขั้นยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการจากแบรนด์นั้นเลย
นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และกรรมการบริหารธุรกิจค้าปลีก ภาคพื้นตะวันออก กลุ่มบริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ กล่าวว่า การเปิดตัวสถานีบริการฯ เชลล์ วี-เพาเวอร์แห่งแรกของโลกในไทยถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับเชลล์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของไทยมีการแข่งขันสูง ซึ่งการเสนอรูปแบบสถานีบริการฯ เชลล์ วี-เพาเวอร์ใหม่นี้ หากประสบความสำเร็จก็มั่นใจว่าการเปิดปั๊มรูปแบบนี้จะประสบความสำเร็จในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
จากฐานสมาชิกผู้ถือบัตรเชลล์คลับสมาร์ทพบว่าภายใน 1 ปีมีถึง 1.2 ล้านใบ พบว่า 55% เป็นลูกค้าที่ใช้น้ำมันเชลล์ วี-เพาเวอร์ บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าลูกค้าจะให้การตอบรับสถานีบริการน้ำมันฯ รูปแบบใหม่นี้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันเชลล์มีอยู่ประมาณ 4.5 หมื่นแห่งใน 80 ประเทศทั่วโลก โดยมีสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในไทยอยู่ 500 แห่ง บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายปีหน้าจะมีการลงทุนขยายและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 30-40 แห่ง ขณะเดียวกันก็มีการรุกตลาดธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) เพิ่มขึ้นด้วย โดยจะขยายร้านกาแฟ Deli Café เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีอยู่ 4-5 แห่งเพิ่มเป็น 70 แห่งภายในปั๊มเชลล์ ซึ่งจุดเด่นของ Deli Café นอกจากจำหน่ายเครื่องดื่มและเบเกอรีแล้ว ยังมีร้านสะดวกซื้อเล็กๆ อยู่ภายในร้านเพื่อตอบสนองลูกค้า โดย Deli Café ถือเป็นร้านกาแฟในไทยที่เปิดภายใต้ชื่อดังกล่าวเป็นครั้งแรกของเชลล์
นอกจากนี้ จะมีการขยายศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเพิ่มขึ้นเป็น 350 แห่ง ปรับปรุงห้องน้ำ และมีการจับมือกับพันธมิตรเพิ่มขึ้น โดยจะเปิดร้านเบอร์เกอร์คิง แห่งแรกที่ร่มเกล้าใน ธ.ค.นี้ และขยายร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่ มาร์ท เพิ่มขึ้นด้วย
ในปีนี้เชลล์มีส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 13% โดยมียอดขายน้ำมันโตขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมตลาด 1%
นายอัษฎากล่าวต่อไปว่า ชนิดของน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในไทยมีมากเกินความจำเป็น เป็นต้นทุนของโรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมัน และผู้บริโภค และยุ่งยากในการบริหารจัดการ ดังนั้นบริษัทได้หารือและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมธุรกิจพลังงานเพื่อพิจารณาว่าควรจะยกเลิกผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดใดได้บ้าง คาดว่าภาครัฐจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้