xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่น Teen GEN ZC จิ้มจอสมาร์ทโฟน 8,508 ครั้งต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชั่นส์ บริษัท มายรัม ประเทศไทย
“มายรัม ประเทศไทย” เผยนวัตกรรมการตลาดวิจัยชีวิตยุคดิจิตอลผ่านแอปพลิเคชัน Digital Life Survey ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ครั้งแรกในวงการการตลาดไทย ด้วยโครงการนำร่องสำรวจพฤติกรรมคนกรุงกับการใช้งานสมาร์ทโฟน

การวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้คนใช้สมาร์ทโฟนในแต่ละวันมากกว่าที่คิด โดยแอปพลิเคชันที่ทำให้เกิดการสัมผัสหน้าจอมากที่สุด ได้แก่ Line, Facebook และ Game เฉลี่ยเปิดใช้แอปพลิเคชันทุก 5 นาที หลังการศึกษาข้อมูลเจาะลึกนี้ ทำให้ “มายรัม ประเทศไทย” ดิจิตอลเอเยนซีในเครือ WPP เตรียมเปิดแอปพลิเคชันในวงกว้างเพื่อนำร่องในกลุ่มมายรัมทั่วโลกและเตรียมวิจัยเพิ่มเติมและพร้อมแชร์ข้อมูลแก่นักการตลาดต่อไป

นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลโซลูชันส์ เปิดเผยถึงที่มาของการพัฒนาโปรแกรมและรายละเอียดของการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานมือถือของคนไทยในครั้งนี้ว่า “มายรัมได้สร้างสรรค์และออกแบบแอปพลิเคชัน Digital Life Survey ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยพร้อมแชร์ผลสำรวจให้นักการตลาดไทยครั้งแรก เนื่องจากผลสำรวจหลายแห่งระบุว่า สมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์สำคัญในการเข้าอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคไทยทุกกลุ่ม จำนวนมากกว่า 44.6 ล้านคน ขณะที่ “ไอดีซี” ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกกล่าวถึงตลาดสมาร์ทโฟนของไทยว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน นับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สมาร์ทโฟนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์สื่อสารในปัจจุบันเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลโซลูชันส์ จึงทำโครงการนำร่องสำรวจพฤติกรรมคนกรุงกับการใช้งานสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Digital Life Survey

ด้วยการออกแบบแอปพลิเคชันเก็บการใช้งานสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ได้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับอายุ เพศ อาชีพ และลักษณะการใช้งานประจำวัน เป็นผลดีต่อการวางแผนการสื่อสารในยุคดิจิตอลได้แม่นยำมากขึ้น มากกว่าข้อมูลที่ได้จากการกรอกแบบสอบถามหรือสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการนำร่องสำรวจเจาะลึกให้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด ที่เป็นผลดีต่อการวางแผนการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายที่เน้นการสร้างสรรค์งานดิจิตอลโซลูชันส์ใหม่ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวาระครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง “ธอมัสไอเดีย” ก่อนเป็น “มายรัม ประเทศไทย” ที่พร้อมต่อยอดโครงการนำร่องนี้สู่สมาชิกเครือข่ายของกลุ่มมายรัมดิจิตอลเอเยนซีระดับโลกเครือข่าย WPP อีก 17 ประเทศทั่วโลก

การติดตามการใช้งานของผู้บริโภค จำนวน 197 คนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงอายุ 15-45 ปี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งแอปพลิเคชันที่ออกแบบนี้สร้างโปรแกรมติดตามการใช้งานจริงของผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ พบว่า
• การใช้งานสมาร์ทโฟน ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ 14 วัน มีมากถึง 461,252 ครั้ง แสดงว่าใน 1 วัน กลุ่มตัวอย่างเปิดใช้งานสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 176 ครั้ง/คน/วัน หรือเปิดใช้แอปพลิเคชันทุก 5 นาที
• ช่วงเวลาที่มีการเปิดใช้สมาร์ทโฟนบ่อยที่สุดคือ ช่วง 16.01 - 20.00 น. เฉลี่ย 49 ครั้ง/คน/วัน
• กลุ่มตัวอย่างมีการปลดล๊อคหน้าจอเพื่อเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟน เฉลี่ย 47 ครั้ง/คน/วัน
• กลุ่มวัยรุ่น Teen GEN ZC มีความถี่ในการสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนเฉลี่ยสูงถึง 8,508 ครั้ง/คน/วัน
• กลุ่มพ่อแม่สมัยใหม่นิยมใช้งานสมาร์ทโฟนสูงสุดในช่วงเวลา 16.01-20.00 น.
• แอปพลิเคชันที่ทำให้เกิดการสัมผัสหน้าจอมากที่สุด ได้แก่ Line, Facebook และ Game

แอปพลิเคชัน Digital Life Survey การสำรวจแบบเรียลไทม์ที่ผู้ร่วมโครงการใช้ตัวตนจริงในการให้ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน โดยให้ระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์และการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ บนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เช่น Line, Facebook, Youtube ฯลฯ และกลุ่มตัวอย่างส่งข้อมูลการใช้งานมายังเซิร์ฟเวอร์ วิธีดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือได้ สามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้มากมาย ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคปัจจุบันของไทยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศ และอาชีพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานประจำวัน

ทั้งนี้ พบว่า 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้งานบนสมาร์ทโฟน ได้แก่ 1.การติดต่อสื่อสาร 2.โซเชียลมีเดีย 3.การใช้งานด้านอื่นๆ 4.เกม และ 5.อินเทอร์เน็ต ทำให้เราได้ข้อมูลเจาะลึกของผู้คนในมุมต่างๆ และขยายผลการสำรวจนี้ให้แก่ผู้ที่สนใจ ไม่เพียงแต่นักการตลาดเท่านั้น

นางสาวอุไรพร สรุปเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า มายรัม ยินดีที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากโครงการนำร่องครั้งนี้ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษาและสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางวางแผนกลยุทธ์สื่อสารที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและรวดเร็วที่สุด ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ mirum.co.th/paper"



กำลังโหลดความคิดเห็น