บอร์ดต่างด้าวไฟเขียวต่างชาติลงทุนไทยเดือน ส.ค.อีก 29 ราย ลดลง 19% เผยยอดรวม 8 เดือนอนุญาตแล้ว 271 ราย ดูดเม็ดเงินลงทุน 1.03 หมื่นล้านบาท
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเดือน ส.ค. 2558 จำนวน 29 ราย ลดลง 19% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยื่นขออนุญาตครั้งแรกจำนวน 18 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 1,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เนื่องจากมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 111 คน
ทั้งนี้ ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการแล้ว 271 ราย เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.03 หมื่นล้านบาท ลดลง 27% เนื่องจากปี 2557 มีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
สำหรับธุรกิจที่ได้รับการอนุญาตในเดือน ส.ค. ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ ในกลุ่ม และบริษัทคู่ค้า จำนวน 15 ราย คิดเป็นสัดส่วน 52% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 1,675 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้กู้ยืมเงิน ให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ บริการด้านการตลาด ให้เช่าที่ดินและพื้นที่อาคาร เป็นต้น เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
ธุรกิจสำนักงานผู้แทน/ภูมิภาค จำนวน 8 ราย คิดเป็นสัดส่วน 28% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 24 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การผลิต การตลาด การลงทุน ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ให้สำนักงานใหญ่ทราบ เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 3 ราย คิดเป็นสัดส่วน 10% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 11 ล้านบาท เช่น การค้าส่งอุปกรณ์ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ อุปกรณ์ขยายเส้นเลือด รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหัวใจ ให้แก่ผู้จัดจำหน่ายและโรงพยาบาลในประเทศไทย เป็นต้น เป็นคนต่างด้าวจากประเทศฝรั่งเศส มาเลเซีย และเยอรมนี
นอกจากนี้ ยังได้อนุญาตธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 ราย คิดเป็นสัดส่วน 10% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต มีเงินลงทุนจำนวน 25 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ควบคุมการติดตั้งอุปกรณ์และทดสอบการเดินเครื่องสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงให้แก่ กฟผ. และบริการตรวจสอบคุณภาพและเก็บรักษาท่อน้ำมันให้แก่กลุ่ม ปตท. สผ. เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์