xs
xsm
sm
md
lg

‘ณรงค์ชัย’ ชี้แหล่งก๊าซฯ ดงมูลหนุนการขนส่งอีสานเชื่อมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ณรงค์ชัย” ตรวจพื้นที่สำรวจปิโตรเลียมบนบก แหล่งดงมูล จ.กาฬสินธุ์ ยันกิจกรรมสำรวจเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ย้ำแหล่งดงมูลจะป้อนก๊าซธรรมชาติเพิ่ม 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หนุน ‘ภาคอีสาน’ เป็นเส้นทางขนส่งเชื่อมอาเซียน (East-West Corridor)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเดินทางมาตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่หลุมดงมูล 5 (DM-5) ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่า การสำรวจพบก๊าซธรรมชาติ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในครั้งนี้มาจากการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานรอบที่ 18 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 หลังจากที่เคยทำการสำรวจในพื้นที่เดียวกันมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2533 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แต่ต้องทำการปิดหลุมและคืนพื้นที่เนื่องจากบางหลุมมีปัญหาภายในหลุม และบางหลุมไม่พบปิโตรเลียม

สำหรับการสำรวจในรอบนี้ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ผู้ได้รับสัมปทานได้ใช้ความพยายามสำรวจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2552 ซึ่งไม่พบปิโตรเลียมเช่นกัน จนกระทั่งต้นปี พ.ศ. 2555 จึงได้เปลี่ยนวิธีสำรวจ โดยการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D-Seismic) ทำให้พบปิโตรเลียมที่คุ้มค่าเชิญพาณิชย์ คาดว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติดงมูล ซี่งประกอบด้วยหลุมผลิตดงมูล 3ST และหลุมผลิตดงมูล 5 จะมีปริมาณสำรองเบื้องต้นประมาณ 35,000 และ 50,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามลำดับ

“บริษัทมีแผนจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จะส่งผ่านทางท่อเชื่อมต่อภายในแหล่งดงมูลไปยังสถานีปรับปรุงคุณภาพ (กำลังการผลิตสูงสุด 28 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ที่ ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เพื่อส่งไปยังจุดซื้อขายที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โดยจะมีสถานีผลิตก๊าซ NGV ณ จุดซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะผลิตก๊าซ NGV ได้ประมาณ 640 ตันต่อวัน ซึ่งก๊าซฯ นี้จะช่วยเสริมความมั่นคงให้กับภาคอีสานเพราะแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมและน้ำพองที่ป้อนให้ภาคอีสานขณะนี้ปริมาณก๊าซเริ่มลดลงตามลำดับ” รมว.พลังงานกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมแหล่งดงมูลในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำอย่างรอบคอบ ผู้ได้รับสัมปทานมีกระบวนการสำรวจทุกขั้นตอนอย่างระมัดระวัง ตั้งแต่การเผาก๊าซฯ ช่วงการทดสอบอัตราไหลของก๊าซฯ จนกระทั่งช่วงปิดหลุมชั่วคราวหลังทดสอบ โดยมีกระบวนการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชน ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เช่น ผ่านมาตรฐาน EIA มีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ มีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่มีการทดสอบเผาก๊าซฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น