“ประจิน” เตรียมพร้อมข้อมูลหารือรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 6 ตั้งเป้าเริ่มโครงการตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช เล็งวางศิลาฤกษ์ ต.ค.-ธ.ค. 58 เล็งปรับแนวเส้นทางที่จีนออกแบบให้ตรงกับ สนข.เพื่อไม่ให้กระทบการเวนคืนและการศึกษา EIA พร้อมมั่นใจรถไฟจีนเป็นเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค. 2558 ที่เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้ติดตามความก้าวหน้าการสำรวจออกแบบ การกำหนดเส้นทางและกำหนดจำนวนสถานีซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยจะดำเนินการตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตรก่อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2558 พร้อมกันนี้จะหารือถึงรูปแบบความร่วมมือและรูปแบบทางการเงินให้มีความชัดเจนด้วย
ทั้งนี้ ในการสำรวจออกแบบรายละเอียดนั้น ทางฝ่ายจีนได้ลงพื้นที่และมีความคืบหน้าประมาณ 50% ซึ่งยอมรับว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากที่จีนสำรวจออกแบบนั้นยังไม่ตรงกับที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สำรวจไว้ก่อนหน้านี้ เช่น เชียงรากน้อย แก่งคอย สระบุรี นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการหารือกันอีก เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางจะส่งผลกระทบในเรื่องการเวนคืนที่ดินและการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย
“การหารือร่วมกับทางจีนในวันที่ 6-8 ส.ค.นี้จะสรุปเรื่องของเส้นทาง สถานี รวมจะได้ความคืบหน้าเรื่องของรูปแบบ EPC และเรื่องดอกเบี้ยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.นี้ทางจีนจะเดินทางมาหารือเรื่องร่างสัญญารายละเอียดความร่วมมือระหว่างกันทั้งสองฝ่าย หากสัญญาแล้วเสร็จก็จะสามารถเริ่มได้ภายในวันที่ 23 ต.ค.นี้ หากเกิดความล่าช้าในบางอย่างก็จะไม่ให้เกินเดือน ธ.ค. โดยตามแผนต้องมีการเปิดปฐมฤกษ์โครงการตอนที่ 1 ที่เชียงรากน้อย และตอนที่ 3 ปากช่องอย่างแน่นอน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
สำหรับกรณีข้อกังวลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถไฟและเทคโนโลยีจีนนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จะต้องตรวจสอบและพิจารณาในภาพรวม ไม่ได้มองแค่จุดใดจุดหนึ่ง โดยต้องดูว่าข้อข้องใจในเรื่องมาตรฐานนั้นเป็นประเด็นใด และทางจีนได้มีมาตรการแก้ไขหรือรองรับปัญหาอย่างไร ต้องให้ทางจีนได้พิสูจน์ก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้ไปศึกษาดูงานระบบรถไฟจีนมากพอสมควรหลายครั้ง และได้ทดสอบการให้บริการรถไฟของจีนในความเร็วระดับต่างๆ แล้ว มีความมั่นใจในเทคโนโลยีของจีนและการให้บริการว่าได้มาตรฐานความปลอดภัย