xs
xsm
sm
md
lg

“ณรงค์ชัย” เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยันพลังงานทดแทนภาคใต้ยังไงก็ไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ณรงค์ชัย” เมินข้อเสนอม็อบต้านถ่านหินกระบี่ ยันเดินหน้าทำความเข้าใจเพื่อให้เป็นไปตามแผนต่อ ยืนยันภาคใต้ต้องมีพลังงานหลักผลิตไฟเหตุพลังงานทดแทนอย่างเดียวยังไงก็ไม่เพียงพอ โยนให้ม็อบไปคุยในเวทีภาคใต้ เหตุคน กทม.ไม่สนใจ




นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งทำความเข้าใจการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า กระทรวงพลังงานจะพยายามทำการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจพร้อมกับการเดินหน้าเพื่อให้โรงไฟฟ้าเป็นไปตามแผนที่กำหนด เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวก็เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ภาคใต้ซึ่งจำเป็นจะต้องพึ่งพิงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งขณะนี้ก็คือต้องพึ่งก๊าซฯ และถ่านหิน 60% ที่เหลือเป็นพลังงานทดแทนทั้งจากน้ำ แสงอาทิตย์ ชีวมวล ลม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการระบุว่าพลังงานทดแทนในภาคใต้โดยเฉพาะการนำปาล์มน้ำมันมาผลิตไฟฟ้านั้น ขณะนี้พบว่าพลังงานทดแทนในภาคใต้ให้สนับสนุนมากอย่างไรก็ผลิตได้ไม่เกิน 200 กว่าเมกะวัตต์ และพลังงานทดแทนเหล่านี้จะเกิดไม่ได้หากไม่มีพลังงานหลัก การผลิตไฟฟ้าก็ไม่พอจากพลังงานทดแทนเมื่อเทียบกับการใช้ไฟของภาคใต้ ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจว่าพลังงานทดแทนนั้นไม่สามารถจะสั่งการเดินเครื่องได้ตลอดขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ส่วนกรณีที่ฝ่ายต่อต้านเสนอ 3 แนวทางโดยเฉพาะให้ยกเลิกประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการจัดตั้งคณะกรรมการหารือกัน ตนไม่รับทราบเรื่องนี้

“เราใช้หลักคิดที่พลังงานหลักจะต้องอยู่ร่วมกับพลังงานทดแทนจะมีตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ และพลังงานหลักภาพรวมและภาคใต้เองเวลานี้ก็พึ่งก๊าซฯ มากไป อย่างวันนี้ก๊าซฯ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA หยุดจ่าย 21-25 ก.ค. ก็จะกระทบทันที ดังนั้น ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 จึงพยายามลดการใช้ก๊าซฯ ที่มีความเสี่ยงจากทั้งความมั่นคงและราคามาเพิ่มสัดส่วนถ่านหินที่มีสต๊อกมากและราคาต้นทุนต่ำ” รมว.พลังงานกล่าว

ทั้งนี้ ไฟภาคใต้ผลิตเองไม่พอใช้ส่วนหนึ่งต้องป้อนจากภาคกลาง การดำเนินงานก็มีการรับฟังความเห็นในการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันที่ 25 ก.ค.นี้ก็จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นในส่วนของโรงไฟฟ้ากระบี่เทพา จ.สงขลา ซึ่งยืนยันว่าก็มีการเปิดรับฟังความเห็นให้คนในพื้นที่ได้นำเสนอปัญหาและหาข้อตกลงร่วมกัน ดังนั้น ผู้ที่มาต่อต้านน่าจะไปพูดคุยกับคนในพื้นที่มากกว่าคนกรุงเทพฯ คงจะไม่สนใจอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น