xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจรัดเข็มขัดรับมือแรงซื้อดิ่งครึ่งปีหลัง ลูกจ้างทำใจ! โอทีหายเกลี้ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์การนายจ้างฯ ส่งสัญญาณรับมือเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง นายจ้างรัดเข็มขัดรอบด้าน ลูกจ้างทำใจโอทีหายเกลี้ยง ไม่รับคนเพิ่ม เหตุเศรษฐกิจไทยเจอปัจจัย 3 เด้ง จากส่งออกติดลบ แรงซื้อดิ่งทั้งจากส่งออกและภาคเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และรายได้รัฐที่อาจไม่พอกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ทางสภาองค์การนายจ้างฯ จะหารือถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ซึ่งจะนำภาพรวมสะท้อนให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างมีการปรับตัวรองรับเนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ดังนั้นภาคการผลิตครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะรัดเข็มขัดทุกด้านเพื่อประคองตัวให้อยู่รอดโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

“หลายฝ่ายต่างก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังไม่มีปัจจัยบวกในการทำให้ฟื้นตัวได้มากนัก ดังนั้นภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต้องปรับตัวประคองให้อยู่รอดในครึ่งปีหลังด้วยการลดต้นทุนทุกด้าน ชะลอการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเพื่อรักษาเงินสดไว้ ลำพังธุรกิจขนาดใหญ่ไม่น่าห่วงเพราะเขาสายป่านเงินทุนยาว แต่ขนาดกลาง และเล็กเวลานี้สถาบันการเงินล็อกไม่ปล่อยกู้ให้กับการลงทุนใหม่ ส่วนที่ได้เงินทุนเป็นเรื่องของเดิมๆ ที่ทำกันไว้เท่านั้น” นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า ปัจจัยที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะต้องรัดเข็มขัดรอบด้านในครึ่งปีหลังก็เนื่องจากจะต้องเจอกับภาวะ 3 เด้ง กล่าวคือ เด้งแรกเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ทำให้ส่งออกทั้งปีมีโอกาสติดลบ 3% ปัจจุบันภาคการผลิตมีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ย 55% ซึ่งถือเป็นอัตราค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันพบว่าภาคเกษตรของไทยเกิน 50% ก็พึ่งพิงตลาดส่งออกเช่นกัน ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีค่าทำงานล่วงเวลาหรือโอทีให้พนักงาน ซึ่งเงินพิเศษส่วนนี้มีส่วนสำคัญต่อแรงซื้อในระบบอยู่ไม่น้อยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อทิศทางการส่งออกครึ่งปีหลังยังไม่ดีนักโอทีก็จะไม่มีเช่นกัน การรักษาพนักงานเก่าก็จะต้องพยายามประคองไว้แต่พนักงานใหม่ไม่มีนโยบายรับเพิ่ม ขณะที่รายจ่ายของคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นแต่เงินเดือนยังมีการเติบโตแบบชะลอตัวต่อเนื่องมา 2-3 ปี

เด้งที่ 2 แรงซื้อคนไทยครึ่งปีหลังแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องที่ไม่เพียงผลกระทบจากส่งออกแต่ยังเผชิญกับเศรษฐกิจภายในที่เกิดภาวะภัยแล้งที่กระทบต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดต่ำภาคเกษตรกรจะยิ่งขาดรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อแรงซื้อจากฟากลูกจ้างที่อยู่ในภาคการผลิตรวมกับคนต่างจังหวัดคือเกษตรกรทิศทางครึ่งปีหลังชะลอตัวการจำหน่ายสินค้าก็จะยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า จะมีการลด แลกแจกแถมเพื่อรักษาฐานลูกค้า ทิศทางการขึ้นราคาในสินค้าจากภาคการผลิตจึงยาก

เด้งที่ 3 เมื่อภาคธุรกิจไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็นนั่นย่อมหมายถึงรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่างๆ ของรัฐบาลก็จะลดต่ำลงไปด้วย เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเม็ดเงินในการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงอาจไม่เพียงพอในการดำเนินการ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลพยายามที่จะเร่งผลักดันงบประมาณต่างๆ ให้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น