ASTVผู้จัดการรายวัน - “เวิลด์แบงก์” ระบุธุรกิจลอจิสติกส์อาเซียน ไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ และมาเลย์ สภาหอการค้าฯ แนะใช้ความได้เปรียบด้านพื้นที่เป็นประตูสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งพม่า ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ด้านชมรมเทคโนโลยีคลังสินค้าฯ เผยมูลค่าตลาด 5 หมื่นล้านบาทขยายตัวต่อเนื่อง 7% ฟาก “เอ็กซ์โปลิงค์ฯ” ตอบรับการขยายตัวธุรกิจ พร้อมจัดงาน Intelligent Warehouse ครั้งแรก หวังเงินสะพัดขั้นต่ำ 500 ล้านบาท ก่อนยกระดับสู่อินเตอร์ใน 3 ปี
นายภาณุมาศ ศรีสุข ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและจีดีพีในลำดับต้นๆ ของโลก ทำให้ธุรกิจภาคการขนส่งและลอจิสติกส์ขยายตัวตามไปด้วยทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ที่ธุรกิจภาคการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ จากประเทศไทยเข้าไปลงทุน
สถานการณ์ของธุรกิจภาคการขนส่งและลอจิสติกส์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ ทั้งค่าแรงงาน ค่าพื้นที่ และขนาดสินค้า เพราะปัจจุบันให้ความสำคัญด้านระบบและประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนขนาดสินค้าที่เล็กลง รวมถึงการขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ตามธุรกิจภาคการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เพิ่มสูงขึ้น
“จากรายงานของธนาคารโลก หรือ World Bank ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียนธุรกิจภาคการขนส่งและลอจิสติกส์ไทยยังเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น แต่ถือว่ามีบทบาทสำคัญและเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยคาดว่าการขยายตัวในอนาคตของธุรกิจจะเป็นแนวสูงที่ใช้พื้นที่ไม่มากนักแต่มีประสิทธิภาพการจัดเก็บและขนส่งสินค้าสูงขึ้น”
นายภาณุมาศกล่าวในตอนท้ายว่า ธุรกิจภาคการขนส่งและลอจิสติกส์ในอนาคตอันใกล้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น B2C ที่มีการเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เนื่องจากบทบาทสำคัญของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ลูกค้านิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น พร้อมกับความต้องการสินค้าขนาดเล็กที่มีระบบการจัดส่งอย่างมีคุณภาพโดยไม่คำนึงถึงเรื่องความรวดเร็วด้านเวลา เพราะฉะนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ โครงสร้าง คือ Hardware ระบบ คือ Software และบุคลากร คือ Peopleware
นายสราวุธ เล้าประเสริฐ ประธานชมรมเทคโนโลยีคลังสินค้าและระบบจัดการ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่คลังสินค้าทั้งที่ตั้งภายในโรงงานและสแตนด์อะโลน ประมาณ 5 ล้านตารางเมตร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ถนนบางนา-ตราด อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ระยอง โดยมีแรงงานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการและระบบจัดการประมาณ 5 แสนคน จากจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 5 พันราย
“ในแง่ตลาดของธุรกิจลอจิสติกส์ในลักษณะภายในคลังสินค้า หรือ Intra Logistics ไม่นับรวมการขนส่งทางระบบคมนาคมต่างๆ มีปริมาณสินค้าเข้า-ออกประมาณ 500 ล้านตันต่อวัน หรือ 2.5 หมื่นล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องปีละประมาณ 7%”
นายสราวุธกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศเยอรมนีถือเป็นผู้นำด้านการจัดระบบธุรกิจลอจิสติกส์ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการในคลังสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงเชื่อมโยงระบบจัดเก็บสินค้า กระบวนการเบิกจ่ายสินค้า รวมถึงระบบบริหารจัดการสินค้า อันจะมีผลต่อการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ที่ใช้ในธุรกิจประมาณ 1-10%
ด้าน นายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล จำกัด เปิดเผยว่า จากความสำคัญของธุรกิจลอจิสติกส์ บริษัทฯ จึงร่วมกับชมรมเทคโนโลยีคลังสินค้าและระบบจัดการ จัดงาน “คลังสินค้าอัจฉริยะ ต้อนรับ AEC” หรือ Intelligent Warehouse ในระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค. 58 ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี
“บริษัทฯ ใช้งบประมาณจัดงาน 10 ล้านบาท บนพื้นที่ 5 พันตารางเมตร มีตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจลอจิสติกส์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจอาหาร, ค้าปลีก, ค้าส่ง, ปูนซีเมนต์ และอื่นๆ เข้าร่วมแสดงสินค้าและเทคโนโลยีประมาณ 60-70 บริษัท โดยคาดว่าตลอด 3 วันจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 4.5 พันคน สามารถทำยอดขายขั้นต่ำอย่างน้อย 500 ล้านบาท”
นายภูษิตกล่าวในตอนท้ายว่า การจัดงานนี้ถือเป็นครั้งแรกของอาเซียน โดยบริษัทฯ คาดหวังว่าการจัดงานครั้งต่อไปจะมีการเติบโตขึ้นขั้นต่ำ 10% ต่อเนื่องกัน 3 ปี ก่อนยกระดับเป็นงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติต่อไป