xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เฝ้าระวังน้ำใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับดูแลจากหลายภาคส่วน และอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ย้ำ ก.ค.นี้หากไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนจะเน้นระบายเฉพาะอุปโภคและบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับสภาพอากาศในปี 2558 ที่เป็นภาวะเอลนีโญ มีแนวโน้มที่จะเป็นปีน้ำแล้ง กฟผ.จึงเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ทั้งในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอีกด้วย โดยในเดือนกรกฎาคมนี้หากยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน และปริมาณน้ำที่สำรองไว้น้อย คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธานจะระบายน้ำให้การอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

“2 เขื่อนใหญ่ กฟผ. ทั้งเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ มีมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งแก่ประชาชนแล้วในรอบพื้นที่ เช่น เขื่อน มีการจัดจุดให้บริการน้ำสาธารณะ 4 จุด เพื่อเติมน้ำสำหรับรถบรรทุกน้ำให้แก่หน่วยงานภายนอก สามารถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายได้เอง เป็นต้น” นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้ การระบายน้ำจากเขื่อน กฟผ.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการฯ ที่มีผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวิเคราะห์รอบด้านก่อนตัดสินใจ กรณีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักการระบายน้ำ กทม. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และ กฟผ. ร่วมกันติดตามและประเมินแนวโน้มสถานการณ์น้ำ และวางแผนเก็บกักหรือระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

“เขื่อนของ กฟผ.ทุกแห่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ มีหน้าที่กักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น โดยเน้นทั้งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และระบายน้ำให้พื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรม และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากให้แก่พื้นที่ท้ายเขื่อนได้ในเวลาเดียวกัน” นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น