xs
xsm
sm
md
lg

สมาร์ทโฟนครองโลก! “GFK” ชู 3 กลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท จีเอฟเค ประเทศไทย จำกัด
พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนตามกระแสโลก ชนชั้นกลางเพิ่มแห่อยู่เมืองใหญ่หนาแน่น ติดหนึบเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนยึดตำแหน่งการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตสูงสุด ส่วนทีวียังรั้งศักดิ์ศรีสื่อคุณภาพดีสุด โอกาสทอง 6 กลุ่มธุรกิจ “GFK” ชู 3 กลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลง

นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท จีเอฟเค ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนชั้นกลางสู่สังคมเมืองใหญ่จะมีเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่มีแนวโน้มเติบโตสูงสุด หรือในปี 2573 จะมีสูงถึง 4,900 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,800 ล้านคน ซึ่งไลฟ์สไตล์การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเริ่มให้ความสำคัญต่อปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาหาร และความบันเทิง รวมถึงความปลอดภัยและผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากความหนาแน่นของสังคมเมืองที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีประชากรในเมืองหลวงเพิ่มเป็น 44 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 23 ล้านคน โดยไลฟ์สไตล์ที่ใช้ชีวิตไปกับเทคโนโลยี ปัจจุบันพบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของเอเชียที่ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่ง 3 อันดับแรก คือ ปากีสถาน, อินเดีย และเวียดนาม ส่วนในแง่ของจำนวนชิ้นที่ซื้อแก็ดเจ็ตและเทคโนโลยีแล้ว ไทยติดอยู่ในกลุ่มท็อป 20 โดย 3 อันดับแรก คือ อินเดีย จีน และไนจีเรีย


ดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท จีเอฟเค ประเทศไทย จำกัด
ในส่วนของเอเชีย ระหว่างปี 2010-2014 พบว่าความนิยมเกี่ยวกับแก็ดเจ็ตจอใหญ่จะถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟน จากสกรีนขนาด 15 นิ้ว ลงมาอยู่ที่ขนาด 4 นิ้ว หรือกล่าวได้ว่ายอดขายในกลุ่มแล็ปท็อป แก็ดเจ็ตจอใหญ่จะมียอดจำหน่ายที่ลดลง โดยเฉพาะในประเทศไทยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2010-2014) พบว่า 1. สมาร์ทโฟน ยอดขายโตขึ้น 1,220% หรือขายได้กว่า 13,331,017 ยูนิต จาก 1,009,664 ยูนิต หรือมีมูลค่ารายได้กว่า 3,156,736,864 ยูเอส โตขึ้น 816% 2. แท็บเล็ต ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาด พบว่าในปี 2014 ขายได้กว่า 1,405,942 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าที่ 378,220,980 ยูเอส

3. พีซี/แล็ปท็อป ขายได้ 1,113,416 ยูนิต เพิ่มขึ้น 28% คิดเป็นมูลค่า 694,577,299 ยูเอส โตขึ้น 20% 4. สมาร์ททีวี จาก 11,821 ยูนิต เพิ่มเป็น 516,437 ยูนิต โตขึ้น 4,269% คิดเป็นมูลค่า 407,968,511 ยูเอส โตขึ้น 1,301% และ 5. ทีวี ขายได้ 1,922,165 ยูนิต โตขึ้น 41% คิดเป็นมูลค่า 532,263,326 ยูเอส ลดลง 32% จะเห็นว่าทิศทางจะถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชันการทำงานอื่นๆ เพิ่มเข้ามามากขึ้น จนทำให้สินค้าบางตัวเริ่มหายไปจากตลาด เช่น จีพีเอส หรือกล้องถ่ายรูป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยได้มีการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี จากผู้บริโภคจำนวน 989 คน อายุระหว่าง 11-70 ปี ทั่วประเทศ พบว่า 1. ใช้สมาร์ทโฟน 70% 2. มือถือธรรมดา 23% 3. แท็บเล็ต 18% 4. เดสก์ท็อปส่วนตัว 17% 5. แล็ปท็อปส่วนตัว 13% 6. คอมพิวเตอร์ออฟฟิศ 12% โดยกิจกรรมส่วนใหญ่บนอินเทอร์เน็ต คือ 1. สังคมออนไลน์ 58% 2. ชมคลิปต่างๆ 43% 3. รับส่งอีเมล 38% 4. ดูทีวี 22% 5. อ่านหนังสือพิมพ์/นิตยสารออนไลน์ 21% 6. หาข้อมูลท่องเที่ยว 15% 7. ซื้อสินค้าออนไลน์ 11%

“คนไทยใช้งานบนสมาร์ทโฟน และแก็ดเจ็ตต่างๆ มากขึ้น รวมถึงรับชมทีวีผ่านสมาร์ทโฟน 25% แล็ปท็อป 30% และแท็บเล็ต 37% ก็ตาม แต่กว่า 61% ของการสำรวจครั้งนี้เชื่อว่าสื่อทีวียังเป็นสื่อที่น่าสนใจ น่าจดจำ และน่าเชื่อถือที่สุด ที่สำคัญยังคงเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุดในอนาคต”

จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตผ่านเทคโนโลยีใหม่ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจและบริการอยู่ 6 กลุ่มหลัก คือ 1. อาหาร 2. บันเทิง 3. ท่องเที่ยว 4. สุขภาพ/ความปลอดภัย 5. สินค้าที่ส่งผลต่อความสบายใจ/ผ่อนคลาย และอำนวยความสะดวก และ 6. สินค้าที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยี หรือสินค้านวัตกรรม

นางดารณีกล่าวต่อว่า ในส่วนของนักการตลาดจะต้องกำหนดกลยุทธ์ให้ครอบคลุมเพื่อทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้ คือ 1. โกลบอลไทยเซชั่น ชูความเป็นไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการเคารพและจารีตวัฒนธรรมต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีบทบาทสูงขึ้นในเวทีระดับโลก การนำเสนอความเป็นไทยสู่ระดับโกลบอลเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างจุดแข็งให้ประเทศไทย 2. แชร์ ออฟ ไลฟ์ หรือการแบ่งปันการใช้ชีวิต ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และ 3. มัลติแพลตฟอร์ม กลยุทธ์การสื่อสารตลาดแบบครบวงจร โดยเฉพาะผ่านทางสมาร์ทโฟน จะเป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในอนาคตมากขึ้น





กำลังโหลดความคิดเห็น