“ร้านนายอินทร์” รุกตลาดค้าปลีกหนังสือเต็มสูบ ตั้งเป้า 300 สาขา พร้อมยอดขาย3.5 พันล้านบาทในปี 2563 ลงทุน 30 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ “มุมเด็ก-มุมติวเตอร์-มุม How-To” 100 สาขาในปี 58 เจาะความสนใจลูกค้าแต่ละกลุ่ม หวังเพิ่มยอดขายหนังสือแต่ละประเภทในแต่ละมุม เดินหน้ากลยุทธ์เชิงรุกจัดมหกรรมจำหน่ายหนังสือสัญจรทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมจับมือพันธมิตรจัดโปรโมชัน “ผ่อน 0% นาน 3 เดือน”
นายระพี อุทกะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานค้าปลีก บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้บริหารร้านหนังสือ “ร้านนายอินทร์” เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “ร้านนายอินทร์” มี 200 สาขา ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตีมอลล์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บนพื้นที่ 70-300 ตารางเมตร แต่ละสาขาใช้เงินทุนประมาณ 1-2 ล้านบาท มีจำนวนหนังสือครอบคลุมทุกหมวดหมู่ตั้งแต่ 5 พันปก จนถึง 4 หมื่นปกตามขนาดพื้นที่สาขา โดยสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ สาขางามวงศ์วาน มีพื้นที่ 400 ตารางเมตร และมีเพียงสาขาเดียวที่ตั้งในลักษณะ “สแตนด์อะโลน” คือสาขาท่าพระจันทร์
สำหรับปี 2558 ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไปบริษัทฯ มีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนสาขาแฟรนไชส์ซึ่งอดีตเคยมีมากกว่า 30 สาขานั้น ปัจจุบันเหลือเพียง 12-13 สาขา เนื่องจากบริษัทฯ แนะนำให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นร้านในลักษณะเครือข่ายภายใต้ชื่ออื่น เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมรายปี
นายระพีกล่าวด้วยว่า ตลาดค้าปลีกหนังสือปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดย “ร้านนายอินทร์” มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10% ถือเป็นอันดับ 2 ของตลาด ด้วยรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2557 แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายหนังสือประมาณ 1.6 พันล้านบาท และการจัดจำหน่ายประมาณ 400 ล้านบาท โดยมีแผนระยะยาว 5 ปีว่าจะขยายธุรกิจครบ 300 สาขา พร้อมรายได้จากการจำหน่ายหนังสือประมาณ 3.5 พันล้านบาทในปี 2563
ในปี 2558 ถือเป็นโอกาสที่ “ร้านนายอินทร์” ดำเนินธุรกิจครบรอบ 22 ปี จึงมีการใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทในการปรับโฉมสาขาต่างๆ ของ “ร้านนายอินทร์” ประมาณ 100 สาขาให้เป็นรูปแบบ “สไตล์เพลส” ภายใต้แนวคิด “ใครๆ ก็อ่านหนังสือที่ร้านนายอินทร์” เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้านและต้องการแหล่งพักพิงระหว่างวัน ระหว่างบ้าน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน ในลักษณะ “บ้านหลังที่ 3” (Third Place)
การปรับปรุงสาขาครั้งนี้จะเน้นใน 3 ลักษณะ คือ 1. “มุมเด็ก” (Kids Station) เป็นโซนเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ โดยจัดหนังสือสำหรับเด็กในช่วงอายุ 0-6 ขวบ พร้อมของเล่นและสิ่งประดิษฐ์เสริมการเรียนรู้ (Education Toys) ที่จะช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก โดยตั้งเป้ายอดขายหนังสือเด็กและของเล่นเสริมการเรียนรู้เป็นจำนวนกว่า 40 ล้านบาท
2. “มุมติวเตอร์” (Tutor Zone) เป็นโซนแบ่งปันความรู้ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ใช้พื้นที่พร้อมอุปกรณ์ในการอ่านหนังสือเป็นการติวเข้มในวันหยุดและเวลาว่างระหว่างเพื่อน หรือครูและลูกศิษย์ เป็นต้น โดยจะเริ่มปรับสาขาต้นแบบแห่งแรกคือ สาขาซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ก่อนกระจายไปยังสาขาอื่นๆ ในอนาคต โดยมีทิศทางการขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่และที่ตั้งของแหล่งสถาบันกวดวิชาและศูนย์การเรียนรู้ โดยตั้งเป้ายอดขายหนังสือคู่มือแบบเรียนมากกว่า 10 ล้านบาท
3. “มุม How To Corner” เป็นโซนของศูนย์รวมหนังสือเชิงจิตวิทยา หนังสือที่เป็นแนวคิด หรือกลยุทธ์เชิงการทำธุรกิจ ตลาด หรือหุ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้เทคนิค ขั้นตอน และวิธีการในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและประสบความสำเร็จ โดย “ร้านนายอินทร์” มุ่งสู่การเป็นผู้นำศูนย์รวมหนังสือด้านนี้ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่ม GEN-Y และ GEN-Z ซึ่งมีความสนใจและต้องการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งคาดว่ามีเป็นจำนวนมากเกือบ 50% ของประชากรไทยทั้งหมด หรือมากกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้ายอดขายหนังสือประเภทนี้มากกว่า 20 ล้านบาท
“การปรับปรุงรูปแบบใหม่ครั้งนี้จะใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งทำเลที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ ความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และยอดขาย โดยบางสาขาอาจมีการปรับเพิ่มเพียง 1 มุม แต่บางสาขาอาจปรับให้มีครบทั้ง 3 มุม โดยมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดความสนใจจากลูกค้าเพิ่มขึ้นได้กว่า 30% จากฐานลูกค้าสมาชิกที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องประมาณ 4 แสนคน มีความถี่ในการซื้อหนังสือ 2 ครั้งต่อเดือน ครั้งละประมาณ 200-250 บาท”
“ร้านนายอินทร์” ยังมีกลยุทธ์สำคัญในการปฏิวัติวงการธุรกิจค้าปลีกหนังสือด้วยการเพิ่มพนักงาน “บุ๊กเมต” (Book Mate) ทำหน้าที่คล้ายบรรณารักษ์ส่วนตัวที่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ-ปรึกษาเกี่ยวกับหนังสือประเภทต่างๆ แก่ลูกค้า โดยได้รับการฝึกอบรมหลักสูตร “ความรู้พื้นฐานและการใช้หนังสือภาพสำหรับเด็ก” จากสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)
“แต่ละปีบริษัทฯ ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทในการจัดกิจกรรม ณ จุดขายหน้าร้านเป็นหลัก แต่ในปีนี้ได้เพิ่มกลยุทธ์เชิงรุก โดยจัดกิจกรรม ร้านนายอินทร์สัญจร ซึ่งถือเป็นการจัดมหกรรมการจำหน่ายหนังสือในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้จัดไปแล้วกว่า 20 ครั้ง พร้อมสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 50% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาทในปี 2558”
นายระพีกล่าวในตอนท้ายว่า “ร้านนายอินทร์” ยังมีการทำโปรโมชันเกี่ยวกับการใช้คะแนนสะสมซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำการตลาดผ่านลอยัลตีโปรแกรมกับลูกค้า ส่งผลให้ลูกค้ามียอดใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มขึ้น 10-20% นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรบัตรเครดิตเคทีซี จัดโปรโมชัน “ผ่อน 0% นาน 3 เดือน” และสิทธิพิเศษอื่นๆ เมื่อมียอดใช้จ่ายครบ 2.5 พันบาท โดยคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้กว่า 300 ล้านบาท