xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ แนะเจ้าของบ่อบาดาลที่พบก๊าซฯ จ.ตาก ปิดหลุมถาวรเพื่อความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิง แนะเจ้าของที่ขุดบ่อบาดาลแล้วเจอก๊าซฯ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ปิดหลุมถาวรเพื่อความปลอดภัย แต่นำมาใช้ในครัวเรือนก็เป็นความเสี่ยงที่หากเกิดการรั่วซึมตามรอยต่อของท่ออาจทำให้เกิดการลุกไหม้เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินได้ ยันเป็นก๊าซฯ มีเทน ส่วนจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ต้องพิสูจน์เพิ่มเติม และต้องได้สิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากกรมฯ ก่อน

รายงานข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แจ้งว่า จากกรณีที่ได้เกิดการพบก๊าซไหลขึ้นมาจากการขุดบ่อบาดาลที่มีความลึก 70 เมตร บริเวณอู่ซ่อมรถยนต์ “ศัญญาศิริ” เลขที่ 334 หมู่ที่ 2 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบก๊าซพุ่งขึ้นมา และสามารถใช้ในการหุงต้มอาหารได้ เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2558 กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย นายวุฒิพงษ์ คงเพชรศักดิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ และคณะลงพื้นที่ตรวจสอบหลุมน้ำบาดาลดังกล่าว พร้อมทั้งได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูชั้นหินน้ำมันที่โผล่ในลำห้วยผาลาด ที่น่าจะมีลักษณะเดียวกันกับหินน้ำมันที่พบในหลุมน้ำบาดาลดังกล่าว เนื่องจากอยู่ห่างจากอู่รถเพียง 200 เมตร ไปทางทิศตะวันออก พบว่า ก๊าซดังกล่าวน่าจะเป็นก๊าซมีเทนเป็นหลัก เกิดในชั้นหินน้ำมัน หินดินดานที่ปรากฏทั่วไปในลุ่มแอ่งแม่สอด

ทั้งนี้ การเจาะลงไปอาจเป็นบริเวณที่ชั้นหินน้ำมันมีรอยแตก หรืออยู่ใกล้กับรอยเลื่อน ทำให้ก๊าซสามารถไหลซึมออกมาจากชั้นหินน้ำมันได้เมื่อแรงดันข้างบนลดลงโดยการปั๊มน้ำออก แต่จากการเจาะสำรวจที่ผ่านๆ มานั้นหลุมส่วนมากมีความลึกประมาณ 200-300 เมตร และไม่พบว่ามีการไหลของก๊าซแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าแอ่งแม่สอดมีบริเวณกว้าง มีการพบน้ำพุร้อนปรากฏหลายจุดในแอ่งแม่สอด การได้รับความร้อนอาจไม่เท่ากันทุกจุดจึงทำให้หลายๆ จุดไม่มีการไหลของก๊าซ ดังนั้น จุดที่อยู่ใกล้กับน้ำพุร้อน แนวเลื่อน ล้วนเป็นองค์ประกอบพิเศษที่จะทำให้เกิดเปลี่ยนสภาพเป็นปิโตรเลียมได้

การที่จะพิสูจน์ทราบว่าเป็นก๊าซชนิดใดต้องเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์หาองค์ประกอบ ปริมาณมากน้อยเท่าไรคงไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ การสำรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติมทั้งด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือน เจาะสำรวจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ทราบว่าในพื้นที่จะมีปิโตรเลียมหรือไม่

สำหรับก๊าซจากหลุมน้ำบาดาลนี้ไม่ได้มีแรงดันสูง และไม่ได้มีอัตราการไหลมาก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงแนะนำให้เจ้าของบ่อบาดาลปิดหลุมถาวรเพื่อความปลอดภัย แต่หากต้องการนำมาใช้ในครัวเรือนก็เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องระวังไม่ให้เกิดประกายไฟ หากเกิดการรั่วซึมตามรอยต่อของท่อ อาจทำให้เกิดการลุกไหม้เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินได้ สำหรับแนวคิดการผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ไม่สามารถกระทำได้ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม เพราะจะต้องได้สิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก่อน

ข้อมูลประวัติการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่จังหวัดตาก พบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2540 กองเชื้อเพลิงธรรมชาติ (กรมทรัพยากรธรณี ในขณะนั้น) ได้มีการสำรวจเพื่อศึกษาศักยภาพของแหล่งหินน้ำมัน ครอบคลุมบริเวณอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยทำการเจาะสำรวจในระดับตื้น 100-300 เมตร เน้นถึงความสามารถในการทำเหมืองเปิดได้ ณ ช่วงเวลานั้น จำนวนทั้งหมด 176 หลุม

ปี พ.ศ.2551 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาเพิ่มเติมในบริเวณที่มีชั้นหินน้ำมันอยู่ในระดับตื้น และมีคุณภาพดีที่สุดบริเวณด้านเหนือของอำเภอแม่สอด ได้เจาะหลุมสำรวจเพิ่มอีก 16 หลุม ปี พ.ศ.2549 บริษัท อินเทอร์รา รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L17/48 ซึ่งเป็นสัมปทานที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตในรอบที่ 19 ได้ทำการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม หลุมแม่สอด-1 เมื่อปี 2552 ความลึก 1,750 เมตร ที่บริเวณบ้านแม่ตาวกลาง หมู่ 1 ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผลการเจาะไม่พบร่องรอยปิโตรเลียมใดๆ ในหลุมดังกล่าว บริษัทฯ จึงคืนแปลงสำรวจทั้งแปลงในปี 2553

จากประวัติการเจาะสำรวจที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการพบก๊าซฯ จากหลุมสำรวจใดๆ เลย ซึ่งในการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานในหลายรอบที่ผ่านมาก็ไม่มีบริษัทใดให้ความสนใจ จนเมื่อ 2549 บริษัท อินเทอร์รา รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นรายแรกที่ให้ความสนใจพื้นที่ครอบคลุมอำเภอแม่สอด แต่จากการศึกษา การลงทุนสำรวจที่ผ่านมา ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าแอ่งแม่สอดจะมีศักยภาพปิโตรเลียมมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากต้องการข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อศึกษาศักยภาพก็จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนที่ครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมในการเจาะสำรวจต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น