ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลโดยเฉพาะผู้ผลิตไฟจากหญ้าเนเปียร์เตรียมสรุปเรื่องทำหนังสือยื่นคณะกรรมาธิการพลังงาน 1-2 สัปดาห์นี้ หลังรัฐสั่งเลิกโครงการนำร่องผลิตไฟจากหญ้าเนเปียร์ลอยแพผู้ผลิต 10 รายและเกษตรกรผู้เพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีโครงการเดิมที่ยังไม่ชัดเจน COD หวังรัฐเร่งหาข้อยุติโดยเร็ว
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการผลิตไฟจากชีวมวลและชีวภาพโดยเฉพาะจากหญ้าเนเปียร์ เพื่อยื่นและหารือกับกรรมาธิการพลังงานเกี่ยวกับผลกระทบนโยบายภาครัฐที่ยกเลิกโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ซึ่งสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมาณ 10 รายและเกษตรกรผู้เพาะปลูกหญ้า นอกจากนี้ยังมีโครงการอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดวันจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) ได้เมื่อใดแน่ จึงต้องการให้รัฐมีความชัดเจนถึงนโยบายดังกล่าวโดยเร็ว
“เรากำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่างๆ อยู่ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์คงจะเสร็จและคงจะนำไปยื่นกับกรรมาธิการพลังงาน ซึ่งผลกระทบหลักๆ ก็จะมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรกที่กระทรวงพลังงานยกเลิกโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ 10 โครงการ และการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือ CBG ซึ่งทั้งหมดเกิดจากนโยบายสนับสนุนจากรัฐ แต่ขณะนี้ต้องหยุดชะงักทั้งหมดจากนโยบายรัฐเช่นกันส่วนนี้จะทำอย่างไร” นายกิตติกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากหญ้าเนเปียร์ โดยกำหนดอัตรารับซื้อแบบสะท้อนต้นทุน หรือ Feed in Tariff ที่ระดับ 5.80 บาทต่อหน่วยซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่จูงใจ แต่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่จะต้องรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) สรุปโครงการค้างท่อและเงื่อนไขการจัดโซนนิ่งพื้นที่และระบบส่งเพื่อเปิดประมูลรับซื้อหรือ Bidding ซึ่งเดิมกำหนดจะเสร็จ มี.ค. 58 ล่าสุดได้เลื่อนออกไปเป็น มิ.ย.-ก.ค. 58 ซึ่งเอกชนเองต้องการให้รัฐดำเนินการให้ได้ตามกรอบระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้ผลกระทบเกิดน้อยที่สุด
นายกิตติกล่าวว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งรายที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ที่มีแผนจะสร้างขนาด 1 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีการลงทุนจองที่ดิน รวมถึงต้องบอกเลิกสัญญาซื้อหญ้าเนเปียร์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อำเภอศรีไศล จ.ศรีสะเกษ เพราะรัฐยกเลิก นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ซึ่งร่วมทุนกับ บ.เทพประทาน 2 โรง กำลังผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ ลงทุน 300 ล้านบาท ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างคาดว่าจะเสร็จประมาณ ต.ค. 58 แต่ยังไม่ได้กำหนด COD จากภาครัฐจึงต้องการเห็นความชัดเจนก่อนที่โรงงานจะแล้วเสร็จ
“ผมต้องการให้รัฐกำหนดโซนนิ่งระบบส่ง และถ้าเป็นหญ้าเนเปียร์ก็ให้กำหนดพื้นที่ชัดเจนไปเลยเพื่อไม่ให้ไปเบียดเบียนพื้นที่ปลูกพืชบริโภค และไม่ควรจะเปิดประมูลเนื่องจากการผลิตไฟจะต้องมีหญ้าที่ต้องมีพื้นที่และจำนวนที่ชัดเจนก่อน” นายกิตติกล่าว
สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทเฉลี่ยจะลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยแผนปี 2559 จะยังคงมองไปที่การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์เนื่องจากเห็นว่าระบบ FiT มีความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ก็คงจะต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่สายส่งที่จะรองรับ ขณะนี้ยังมองไปที่การพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ โดยเร็วๆ นี้จะมีการลงนามการพัฒนา โดยมองไปยังพื้นที่ภาคกลางและอีสาน ซึ่งจะพัฒนาโรงไฟฟ้าจากขยะ 2 แห่ง ใช้ขยะปริมาณ 250-300 ตันต่อวัน