สนพ.เตรียมสรุปแผน PDP ใหม่ คาดเสนอ กพช.เห็นชอบได้ภายใน พ.ค. 58 เผย 20 ปีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือประมาณ 60,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ กกพ.เตรียมแผนประกาศรับซื้อโซลาร์เซลล์ราชการและสหกรณ์ 800 เมกะวัตต์
นายสุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานสัมมนา “โซลาร์เซลล์ดาวรุ่งพลังงานทดแทน” ว่า ขณะนี้ สนพ.กำลังจัดทำแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (PDP 2015) ระยะยาว 20 ปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปได้ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบภายในเดือน พ.ค. 58
ทั้งนี้ ภายใต้ PDP ดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมสรุปแผนประสิทธิภาพพลังงานที่จะมีการบรรจุไว้ 100% ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ไฟลดลง 1 หมื่นเมกะวัตต์ รวมทั้งแผนพัฒนาทดแทน ซึ่งใน 20 ปีนี้จะมีพลังงานทดแทนรวมประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน เพราะจะมีผลต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าใน 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว หรือประมาณ 60,000 เมกะวัตต์
ส่วนโครงการโซลาร์เซลล์สำหรับภาคราชการและสหกรณ์ 800 เมกะวัตต์ เดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องก่อสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2559 และขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมแผนประกาศรับซื้อ ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาถึงศักยภาพของสายส่งไฟฟ้าว่าจะรับไฟฟ้าได้ปริมาณทั้งหมดหรือไม่ ถ้าหากไม่ได้ก็ต้องประกาศทยอยรับซื้อและขยายระยะเวลาสิ้นสุดการส่งมอบไฟฟ้าภายในกลางปี 2559 ออกไป โดยขณะนี้กำลังพิจารณาศักยภาพและต้องดูถึงโครงการพลังงานทดแทนของทุกระบบมาพิจารณาควบคู่กันไป
นายภาวัน สยามชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โซลาร์ตรอนกำลังรอประกาศโครงการโซลาร์ราชการและชุมชน 800 เมกะวัตต์ว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร เบื้องต้นได้ไปหารือกับสหกรณ์ต่างๆ พร้อมที่จะลงทุนร่วมประมาณ 200 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตโซลาร์เซลล์และประกอบแผงโซลาร์เซลล์ คาดหวังว่าในอนาคตรัฐบาลจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี และควรจะเปิดให้การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปเป็นระบบเสรี ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการผลิตโซลาร์รูฟท็อป โดยพลังงานแสงอาทิตย์สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็นถึง 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด