รัฐเร่งแก้ปัญหายาราคาแพง ตั้งคณะทำงานหาข้อสรุปภายใน 1 เดือน จะคุมยาประเภทไหน ชนิดใด ก่อนเสนอ กกร. ออกมาตรการดูแล แย้มอาจกำหนดกำไรต่อหน่วย เหตุต้นทุนยาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ส่วนค่ารักษาพยาบาล รอสาธารณสุขเสนอเรื่องมา ก่อนจับเข้าบัญชีบริการควบคุม และกำหนดมาตรการ
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกรมการค้าภายใน โดยมีรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหายาและค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพง ว่า ในส่วนของยา ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ที่จะดูแลราคายาและรายละเอียดว่าจะมียาในกลุ่มใดที่จะต้องดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และเมื่อได้ข้อสรุป จะนำผลเสนอต่อคณะกรรมการยาแห่งชาติ ที่มีนายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน เพื่อพิจารณาออกประกาศบังคับใช้ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามมติของคณะกรรมการยาแห่งชาติ โดยสินค้ายาอยู่ในบัญชีควบคุมอยู่แล้วสามารถออกมาตรการทางกฎหมายดูแลได้ทันที
“ยาเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มีเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องพิจาณาก่อน ก็ต้องว่ากันตามมติของเจ้าภาพ เมื่อได้ข้อสรุปออกมาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็จะออกมาตรการตามมา”นายบุณยฤทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงค่ารักษาพยาบาลที่มีการร้องเรียนว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดค่าบริการสูงเกินไป โดยรมว.สาธารณสุขได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์นำค่ารักษาพยาบาลเข้ามาอยู่ในบัญชีบริการควบคุม เพื่อออกมาตรการทางกฎหมายเข้ามาดูแล ซึ่งหลังจากนี้ ต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน ถึงจะนำเรื่องเสนอต่อ กกร. บรรจุค่ารักษาพยาบาลอยู่ในบัญชีบริการควบคุม หลังจากนั้นก็จะหามาตรการในการดูแลต่อไป แต่ในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเภท เพราะมีทั้งการรักษาพยาบาลปกติ และการรักษาพยาบาลแบบฉุกเฉิน ซึ่งค่ารักษาจะแตกต่างกันไป
สำหรับมาตรการทางกฎหมายที่จะใช้ดูแลราคายาและค่ารักษาพยาบาลตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 สามารถกำหนดมาตรการเพดานราคาสูงสุด รวมถึงการกำหนดผลกำไรต่อหน่วยของสินค้าและบริการชนิดนั้น และยังสามารถกำหนดพื้นที่และระยะเวลาในการควบคุมราคา ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าการกำหนดกำไรต่อหน่วยน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้มากสุด เนื่องจากต้นทุนของยาแต่ละชนิดและค่ารักษาพยาบาลแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ว่ายารักษาโรคจะอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม แต่ไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมราคาจำหน่าย เนื่องจากยารักษาโรคมีหลากหลายชนิดและต้นทุนยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน แต่มีมาตรการที่กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสินค้าหรือบริการต้องปิดป้ายแสดงราคายาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล หากไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท