กรมเจ้าท่ายันเพิ่มความเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางน้ำ หลังเหตุเรืออ่าวนางปริ้นเซส 5 ไฟไหม้ ทำนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิต เร่งกู้ซากเรือใน 30 วันก่อนเดินหน้าสอบหาสาเหตุ พร้อมเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อความเข้มข้นและบทลงโทษ ดึงพัทยาโมเดลใช้กับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านอำนวยการ เปิดเผยถึงมาตรการและแนวทางการป้องกันอุบัติภัยและอุบัติเหตุทางทะเล ภายหลังเกิดเหตุไฟไหม้เรือโดยสารอ่าวนางปริ้นเซส 5 ในพื้นที่ ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดเหตุนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นเด็กหญิงชาวอิสราเอล อายุ 12 ปี เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งถือเป็นความสูญเสียและมีผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเกิดไฟไหม้บริเวณเครื่องยนต์ด้านซ้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ใช้ถังดับเพลิง 8 ถังแต่ควบคุมเพลิงไม่ได้จึงอพยพผู้โดยสาร ซึ่งผู้เสียชีวิตติดอยู่ในห้องน้ำช่วงไฟไหม้ และเรือเกิดระเบิดด้วย โดยจากการตรวจสอบของกรมเจ้าท่าพบว่าเรือมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบถ้วน ประกอบด้วย เสื้อชูชีพ และอุปกรณ์ดับเพลิง และบรรทุกผู้โดยสารต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าสอบสวนข้อเท็จจริงจากสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน รวมถึงให้เข้มงวดเรื่องมาตรการความปลอดภัยให้มากขึ้น
ด้านนายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้สั่งการให้ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวลำดังกล่าวกู้ซากเรือให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นกรมเจ้าท่าจะเร่งสอบสวนเพื่อหาสาเหตุการเกิดไฟไหม้เรือดังกล่าวอีกครั้ง สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าการบรรทุกจำนวนผู้โดยสารของเรือลำดังกล่าวนั้นไม่ได้เกินจำนวนที่กำหนด 215 คน โดยขณะที่เกิดเหตุนั้นมีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 115 คน สำหรับการเยียวยาผู้โดยสารนั้น กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 สาขากระบี่ ได้ร่วมกับจังหวัดกระบี่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางน้ำ โดยได้มีความเข้มงวดให้ความรู้ ข้อแนะนำประชาชน นักท่องเที่ยว อบรมเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้โดยสารหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตามท่าเรือใหญ่เพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือได้อย่างทันที ขอความร่วมมือในการสวมเสื้อชูชีพทุกคน หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่อนุญาตให้ออกเรือ ตรวจสอบสภาพเรือเครื่องยนต์ อุปกรณ์ประจำเรือ ปีละ 1 ครั้ง และระหว่างปีจะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจในพื้นที่ หากพบเรือบกพร่องจะแจ้งยกเลิกหรือพักใช้ทันที เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ร.บ.เรือไทย และ พ.ร.บ.ป้องกันเรือโดนกัน ซึ่งอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย และจัดทำประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ซึ่งจะมีการแก้ไขไปถึงกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับกฎข้อบังคับการตรวจเรือ การต่อใบอนุญาต การบังคับสวมเสื้อชูชีพ การทำประกันภัย เจ็ตสกี เป็นต้น นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ามีแผนที่จะจัดมาตรฐานความปลอดภัยโดยใช้พัทยาโมเดล ที่มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง กับพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง และอันดามัน สมุย ภูเก็ต ด้วย