xs
xsm
sm
md
lg

สมรภูมิ “แอร์” ร้อนระอุรับซัมเมอร์ แบรนด์รอง-โลคัลแบรนด์เปิดเกมรุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ASTVผู้จัดการรายวัน - ตลาดเครื่องปรับอากาศมูลค่า 25,000 ล้านบาทปีนี้คึกคักสุด ผู้ประกอบการขยับตัวครั้งใหญ่ด้วยเม็ดเงินการตลาดรวมกันกว่า 2,000 ล้านบาท เชื่อทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 10% เหตุแบรนด์ญี่ปุ่นพร้อมใจลุกขึ้นสู้ ชู “เมด อิน เจแปน” ทวงบัลลังก์คืน ฟากแบรนด์เกาหลี “แอลจี” อัดเต็มที่ทุ่ม 500 ล้านบาทส่ง “อินเวอร์เตอร์” หวังเป็นพระเอกรักษายอดขาย โดยไร้เงา “ซัมซุง” คาดซุ่มส่งหมัดเด็ดทะลวงในช่วงโค้งท้าย ปรากฏการณ์ใหญ่แบรนด์ไทย “ซัยโจ” ถึงเวลาสยายปีก บุกเจแปนเจ้าถิ่น พร้อมทวงแชร์คืนที่ 19% ได้ในเร็ววัน

ปรากฏการณ์อากาศร้อนของปีนี้คงร้อนไม่เท่าสมรภูมิเครื่องปรับอากาศเมื่อเทียบกับการแข่งขันที่กำลังระอุขึ้น เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ได้เห็นการขยับตัวในเชิงรุกของเครื่องปรับอากาศที่เป็นแบรนด์เบอร์รอง และโลคัลแบรนด์ไทยมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลั่นกลองรบตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพื่อต้องการชิงส่วนแบ่งเค้กในตลาดให้มีมากขึ้น ขณะที่ผู้นำตลาดยังคงเก็บตัวเงียบ หรืออาจจะกำลังเตรียมแก้เกมปล่อยหมัดเด็ดในเร็ววันก่อนที่หน้าร้อนนี้จะจางหายไป

จะเห็นได้ว่าความคึกคักของตลาดเครื่องปรับอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้มาจากหลายปัจจัย เช่น ความพร้อมของแบรนด์ไทยในการทำตลาดอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาฐานที่มั่นในไทยไว้ให้อยู่หมัด และส่วนสำคัญเพื่อปูทางสู่ตลาดต่างประเทศหลังเปิดเออีซี การสร้างแบรนด์มีความจำเป็นสูงมากในสถานการณ์เช่นนี้ การทำตลาดอย่างจริงจังให้แบรนด์เป็นที่จดจำจึงมีความจำเป็นสูง

นอกจากนั้น ปีนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของน้ำยาแอร์ ที่ทุกค่ายพร้อมใจกันเปลี่ยนมาใช้น้ำยาแอร์ที่ชื่อ R32 แทน R22 ซึ่งเป็นน้ำยาตัวใหม่ที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น รวมทั้งนำเสนอเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ที่จะช่วยประหยัดพลังงาน ส่งผลต่อการจ่ายค่าไฟที่น้อยลง การลงทุนครั้งสำคัญและการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน บวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่พร้อมใช้จ่ายและเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่คุ้มค่าคุ้มราคา

ทำให้ปีนี้ตลาดเครื่องปรับอากาศน่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งอาจจะสูงกว่านี้เมื่อได้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีจากสภาพอากาศที่ร้อนมากกว่าทุกปี และจากการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น แต่ละแบรนด์จึงมีแนวทางและกลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการทำตลาดในปีนี้

โดยกลุ่มแบรนด์เกาหลีที่ขึ้นมาเป็นแบรนด์แถวหน้าในไทยยังคงชูจุดแข็งเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนแบรนด์ญี่ปุ่นชูจุดแข็งในเรื่องเมดอินเจแปน ขณะที่แบรนด์ไทยชูศักยภาพความเป็นไทยที่ไม่แพ้ชาติใด ด้วยมาตรฐานการผลิตในระดับที่ทั่วโลกยอมรับ โดยเจ้าตลาดอินเวอร์เตอร์ยังคงโฟกัสอินเวอร์เตอร์
นายโทริฮิโร มาจิมะ กรรมการผู้จัดการ พานาโซนิค เอ.พี. เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
**แอลจีชูอินเวอร์เตอร์ขึ้นแท่นที่ 1
นายอลงกรณ์ ชูจิตร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% คิดเป็นมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท ความต้องการอยู่ที่ 1.5 ล้านเครื่อง โดยมองว่าการแข่งขันปีนี้จะรุนแรงในเรื่องของการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย ขณะที่ในกลุ่มรุ่นอินเวอร์เตอร์จะมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หรือภายใน 5 ปีหลังจากนี้จะมีแชร์ 50% ของตลาดเครื่องปรับอากาศรวม

โดยปีนี้ทางแอลจีจะให้ความสำคัญต่อเครื่องปรับอากาศในกลุ่มอินเวอร์เตอร์เป็นหลัก หรือจากเดิมมีแชร์ 16% อยู่ในอันดับสามของกลุ่มอินเวอร์เตอร์ รองจาก ซัมซุง และมิตซูบิชิ ตามลำดับ ปีนี้จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้วยสัดส่วนแชร์ไม่ต่ำกว่า 25% พร้อมส่งรายได้รวมแอร์ปีนี้โตขึ้น 35% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 3,000 ล้านบาท

โดยใช้งบการตลาดกว่า 500 ล้านบาทในการเปิดตัวนวัตกรรมระบบอินเวอร์เตอร์ ใหม่ คือ “นิว แอลจี อินเวอร์เตอร์ วี” ด้วยฟีเจอร์ แอ็กทีฟ เอนเนอร์ยี คอนโทรล ควบคุมความเย็นและอัตราสิ้นเปลืองพลังงานได้ หรือโดยรวมปีนี้มีนำเสนอรุ่นใหม่ทั้งหมด 26 รุ่น แบ่งเป็น อินเวอร์เตอร์ 14 รุ่น และธรรมดา 12 รุ่น โดยรุ่นอินเวอร์เตอร์ ราคาเริ่มต้นที่ 15,900-50,900 บาท สูงกว่าปกติ 20%

**พานาโซนิคงัด เมด อิน เจแปน สู้
พานาโซนิค ถือเป็นแบรนด์แรกในปีนี้ที่รุกตลาดเครื่องปรับอากาศก่อนใคร จากปกติจะเป็นแบรนด์เกาหลี ที่จะใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ จึงถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่แบรนด์ญี่ปุ่นรุกขึ้นมาทำตลาดอย่างจริงจัง

นายโทริฮิโร มาจิมะ กรรมการผู้จัดการ พานาโซนิค เอ.พี. เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาพานาโซนิคมีแชร์ 15% อยู่ในอันดับสามของตลาดรวมเครื่องปรับอากาศ โดยภายใน 3 ปีหลังจากนี้ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 18% หรือเป็นอันดับสองของตลาดให้ได้ ภายใต้กลยุทธ์นำเสนอสินค้า “made in Japan” ตอกย้ำมาตรฐานระดับ Japan Ouality เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจในสินค้าตั้งแต่ระดับบนจนมาถึงระดับล่าง อีกทั้งเป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากเกาหลีและจีนที่กำลังทำตลาดอยู่ในขณะนี้

ล่าสุดเปิดตัวเครื่องปรับอากาศ นวัตกรรมใหม่ iAUTO-X จำนวน 2 ซีรีส์ ราคาเฉลี่ย 22,000 บาท จากทั้งหมด 27 รุ่น แบ่งเป็น B2C 16 รุ่น และ B2B 11 รุ่น พร้อมวางจำหน่ายในทุกช่องทาง รวมถึงดีลเลอร์ที่มีอยู่ 110 แห่ง ที่แอ็กทีฟอยู่ทั่วประเทศ มั่นใจว่าจะผลักดันให้รายได้สิ้นปีงบประมาณ 2557 (มี.ค. 58) จะมียอดขายกว่า 3,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% หรือทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนที่ 30% ของรายได้รวมบริษัททั้งหมดที่ตั้งเป้าไว้ 10,400 ล้านบาท โตขึ้น 5% มาจากแอร์ 30% ตู้เย็น 25% เครื่องซักผ้า 25-30% และอื่นอีก 15-20% รวมกัน
นายอลงกรณ์ ชูจิตร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ซ้าย)
**ฮิตาชินำเสิร์ฟ อินเวอร์เตอร์พลัส ที่ดีกว่า
ปีนี้ฮิตาชิเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ญี่ปุ่นที่หันมาทำการตลาดในเชิงรุก เริ่มตั้งแต่การนำเสนอโชว์รูม และสำนักงานขายใหม่ย่านบางนา ส่วนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอินเวอร์พลัสใน 3 ผลิตภัณฑ์หลักไปพร้อมๆ กัน คือ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ ภายใต้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ด้วยการนำเสนอมาตรฐานการผลิตด้วย “JAPAN TECHNOLOGY” เช่นเดียวกับพานาโซนิค

นายมาซาฮิโร่ ซาคาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นอกจากจะมีการเปิดตัวโชว์รูมและสำนักงานขายใหม่แล้ว ปีนี้จะดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 คอนเซ็ปต์หลัก คือ 1. GORGEOUS DESIGN กับการออกแบบที่เหนือชั้น 2. INVERTER PLUS เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานสูงสุดที่นำมาพัฒนาจนครบในสินค้าทุกประเภท และ 3. JAPAN TECHNOLOGY นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับจากญี่ปุ่นพัฒนาเพื่อคนไทย

ขณะที่การทำตลาดนั้นจะใช้งบ 10-15% ของยอดขาย ชูเรื่องของสินค้านวัตกรรม INVERTER PLUS ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก คือ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ เชื่อว่าจะทำให้ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์มีแชร์เพิ่มขึ้นอีก 1-2% ขณะที่ทั้งปีนี้จะมีสินค้าออกใหม่ทั้งหมด 50 SKU มาพร้อมดีไซน์ที่ทันสมัยเหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน จึงส่งผลให้ฮิตาชิไม่มีนโยบายทำการตลาดทางด้านการแข่งขันราคา

โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องปรับอากาศนั้น ปีที่ผ่านมาทำรายได้ให้บริษัทคิดเป็น 15% หรือกว่า 1,050 ล้านบาท จากรายได้รวม 7,000 ล้านบาท ปีนี้มั่นใจว่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดรวมเครื่องปรับอากาศได้อีก 1-2% จากปีก่อนมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากเพิ่งเข้ามาทำตลาดได้เพียง 5 ปี
สามผู้บริหารคีย์แมนหลัก ของแอร์ไดกิ้น
**ไดกิ้นติดปีกลุยตลาดอาเซียน
ไดกิ้นถือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่เข้ามาทำตลาดในไทยมานาน แต่หลายปีที่ผ่านมาการทำตลาดไม่หวือหวา ค่อนข้างเงียบสไตล์ญี่ปุ่น แต่ในปีนี้ไดกิ้นเป็นอีกแบรนด์ที่มีการขยับตัวครั้งใหญ่ โดยหวังไว้ว่าในไทยมุ่งรีแบรนดิ้ง จัดทัพการตลาดใหม่ สู่การบุกตลาดอาเซียนอย่างจริงจัง

นายบัณฑิต ศรีวัลลภานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทเชื่อว่าหลังเปิดเออีซีตลาดเครื่องปรับอากาศจะรวมกันเป็นตลาดเดียว ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นจะเอื้อต่อภาคการผลิต ทำให้ต้นทุนถูกลง และสร้างยอดขายได้ดีขึ้น จากปัจจุบันยอดขายของไดกิ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนคิดเป็น 15% เทียบกับระดับโกลบอล และมีอัตราการเติบโตสูงสุดไม่ต่ำกว่า 10% ทุกปี

ส่งผลให้ความสำคัญต่อตลาดนี้มากขึ้น มีการเพิ่มฐานกำลังการผลิตในบางประเทศ เพื่อซัปพอร์ตตลาดในประเทศมากขึ้น เช่น อินเดีย ส่วนในเออีซี พบว่าตลาดในไทยเวียดนาม และอินโดนีเซีย มีขนาดใหญ่สุด รองลงมาคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

โดยในไทย ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่ไดกิ้นหวนกลับมาทำตลาดอย่างจริงจัง ด้วยแผนการตลาดภายใต้ทีมผู้บริหารใหม่ คือ นายสมพร จักรีนภาวงศ์ ที่เข้ามาดูแลในตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด จากเดิมที่อยู่กับค่ายซัมซุงมาก่อนหน้า

ปีนี้ภายใต้ผู้บริหารคนใหม่ไดกิ้นใช้งบการตลาดกว่า 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 เท่าตัว จากปีก่อนใช้เพียง 40-50 ล้านบาท เพื่อต้องการรีแบรนดิ้ง และรีเฟรชแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์องค์กร สื่อสารในวงกว้าง พร้อมปรับหน้าร้านไดกิ้นให้น่าสนใจมากขึ้น ด้วยการใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท สำหรับการรีโนเวต เพิ่มชอปไดกิ้นอีก 4-5 สาขา เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นต้น ในโมเดลต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันยังได้นำเสนอเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ คือ ไดกิ้น เอกิระ ราคาตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สิ้นปีงบประมาณ 2558 (เม.ย. 58-มี.ค. 59) จะมีรายได้ถึง 9,500 ล้านบาท หรือสามารถจำหน่ายได้กว่า 3.5 แสนยูนิตจากปีนี้ (2557) ที่จะปิดรายได้ในเดือน มี.ค. น่าจะจำหน่ายได้ที่ 2.5 แสนยูนิต หรือทำรายได้ที่ 7,000 กว่าล้านบาท พร้อมมีส่วนแบ่งทางการเป็น 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20%/

** “ซัยโจ” แบรนด์ไทยชูมาตรฐานระดับโลก
ความโดดเด่นของเครื่องปรับอากาศแบรนด์ไทย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล ไม่ใช่เรื่องของแบรนดิ้ง ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า เรามีเครื่องปรับอากาศที่เป็นแบรนด์ไทยอยู่ และทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากชื่อแบรนด์ที่ใช้ในการทำตลาดไม่ได้ใช้ชื่อไทย อาทิ “ซัยโจ เด็นกิ”

นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศในไทยค่อนข้างดุเดือด โดยเฉพาะแบรนด์เกาหลีและญี่ปุ่นที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคคนไทยสูง ขณะที่ซัยโจยังมีส่วนแบ่งในตลาดไม่สูงมาก แม้ว่าจะหันมาสร้างแบรนด์อย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมุ่งทำตลาดต่างประเทศเป็นหลักเพื่อสร้างยอดขาย โดยหวังว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้รวมถึง 5,000 ล้านบาท ภายใต้สัดส่วนการส่งออกที่มากกว่าในประเทศ จากปัจจุบันส่งออกอยู่ที่ 35%

จากการมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศครั้งนี้ ปีนี้จึงมีการลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. เพิ่มพื้นที่แวร์เฮาส์อีก 15,000 ตารางเมตร จากที่มีอยู่แล้ว 20,000 ตารางเมตร 2. งบ R&D 100 ล้านบาท และ 3. งบการตลาดอีก 80-100 ล้านบาท เน้นสร้างแบรนด์ และเพิ่มช่องทางขายในไทย ส่วนต่างประเทศปีนี้จะรุกตลาดญี่ปุ่นจะเริ่มได้ในช่วงเดือน เม.ย นี้ ล็อตแรกจำนวน 1,000 ชุด ออสเตรเลียเริ่มได้ในช่วง ก.ค.นี้ โดยญี่ปุ่น ซัยโจ ถือเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่สามารถเข้าไปทำตลาดได้ ด้วยมาตรฐานที่ทางญี่ปุ่นยอมรับ

“ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่ยากที่สุด มูลค่าตลาดกว่า 1.44 ล้านล้านบาท หรือมีความต้องการต่อปีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านเครื่อง ทั้งนี้ ซัยโจ เด็นกิ หวังแชร์เพียง 1% ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ชาตินิยม เน้นใช้แบรนด์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการเข้าไปทำตลาดครั้งนี้ได้ร่วมกับทางพันธมิตรเครื่องปรับอากาศระดับกลาง มูลค่ารายได้ราว 50,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะเป็นไปได้ดี ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ชื่นชอบแบรนด์ญี่ปุ่น การเข้าไปทำตลาดถือเป็นความท้าทายเช่นกัน และหากทำตลาดใน 3 ประเทศสำเร็จ การทำตลาดในประเทศอื่นๆ ก็จะง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดในประเทศไทย ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ได้คุณภาพการส่งออก เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายในประเทศเติบโตตามไปด้วย โดยปีนี้บริษัทใช้งบการตลาด 80-100 ล้านบาท มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ และเพิ่มช่องทางขายในไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญเชื่อว่าจะสามารถกลับมามีแชร์ที่ 18-19% อีกครั้งให้ได้ใน 3 ปี จากปัจจุบันมีแชร์เพียง 8-9% เท่านั้น โดยถึงสิ้นปีนี้บริษัทจะมีรายได้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท มาจากในประเทศ และต่างประเทศ 50%

***โตชิบาผนึกแคเรียร์ลุยแอร์ประหยัดพลังงาน
นายอดิศักดิ์ รัมมณีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทแคเรียร์ ผู้นำระดับโลกด้านระบบทำความร้อน ระบบปรับอากาศ และระบบทำความเย็น ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมในเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานที่ทนทาน น้ำหนักเบา เงียบ ประหยัดพลังงานสูงสุด การออกแบบที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ได้เปิดตัว โตชิบา Stable Power Inverter หรือ SPI Series รุ่นแยกส่วนแขวนใต้ฝ้า และรุ่นฝังฝ้า 4 ทิศทาง ที่ให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นสูง แต่ใช้กระแสไฟฟ้าต่ำ ซึ่งโตชิบาเป็นแบรนด์แรกที่ใช้เทคโนโลยีระบบอินเวอร์เตอร์นี้ โดยเครื่องปรับอากาศ SPI Series ทั้ง 2 รุ่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่พักอาศัยขนาดใหญ่ โฮมออฟฟิศ ร้านค้า และโรงงานขนาดกลาง

ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในที่พักอาศัย (Residential) 67 เปอร์เซ็นต์ หรือ 16,000 ล้านบาท และเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ (Commercial) ประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ หรือ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเครื่องปรับอากาศโตชิบา SPI Series จัดอยู่ในเซกเมนต์เครื่องปรับอากาศที่ใช้ในเชิงกึ่งพาณิชย์ (Light commercial) ซึ่งมีสัดส่วนในตลาด 4,000 ล้านบาท และทางแคเรียร์คาดว่า SPI Series จะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด และจะทำให้ส่วนแบ่งของตลาดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จะเห็นได้ว่าปีนี้แบรนด์สำคัญอย่าง “ซัมซุง” ซึ่งถือเป็นแบรนด์หลักที่ขับเคลื่อนตลาดแอร์ในไทยให้เกิดการแข่งขันแบรนด์หนึ่งนั้นกลับยังคงซุ่มเงียบในเรื่องของตลาดเครื่องปรับอากาศ ส่วนสำคัญอาจจะเป็นเพราะเสียมือดีด้านการทำตลาดไป หรืออาจจะกำลังเตรียมนำเสนอไฮไลต์เด็ดออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของซัมซุงในปีนี้ ที่ชูในเรื่องของแนวคิด “Internet of Things” ก็เป็นได้ แต่เชื่อแน่ว่าหากผู้ร่วมรบออกมาทำตลาดครบแล้ว ตลาดเครื่องปรับอากาศในปีนี้จะถือเป็นปีที่มีความคึกคักมากที่สุดอีกปีหนึ่ง เพราะมีผู้เล่นรุกทำการตลาดมากที่สุด ด้วยเม็ดเงินในการทำตลาดรวมกันแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น