xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาลัยพลังงานทดแทน มน. นำร่อง “ระบบสะสมพลังงานสำหรับประยุกต์ใช้งานในโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.นิพนธ์  เกตุจ้อย อธิบายถึงระบบทำงานเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้ระบบสะสมพลังงานระบบ Smart-Grid

วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) นำร่องโครงการ เทคโนโลยีระบบสะสมพลังงาน สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศ โดยโซลาร์โซลูชั่นจากชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งนับเป็นโครงการต้นแบบของประเทศ พร้อมคาดหวังให้หน่วยงานต่างๆ นำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ทั่วประเทศ
ปัจจุบันวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ก้าวสู่การพัฒนาในระยะที่ 3 เพื่อพัฒนาไปสู่ Smart Campus Power โดยการเป็นต้นแบบของหน่วยงานที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อใช้เองในหน่วยงานโดยให้เข้าสู่ระบบ Net Positive Production คือผลิตใช้เอง และเหลือจ่ายออกภายนอกระบบ และ Negative Zero Emission Campus คือหน่วยงานที่ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากกิจกรรมการใช้พลังงาน
พาเยี่ยมชมโครงการ
กิตติ ธนนิธิกุล ผู้เชี่ยวชาญระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย กับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการ
ผศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าว่า “เทคโนโลยีระบบสะสมพลังงาน สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศ” เป็นโครงการนำร่องโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานที่เหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้งานในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทย โดยการศึกษาครอบคลุมรูปแบบเทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานที่หลากหลาย และมีแนวโน้มที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้งานในระบบ Smart-Grid ของประเทศไทยในอนาคต และเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติด้านระบบสะสมพลังงานของประเทศ โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวสามารถใช้เพื่อการศึกษาวิจัย รวมถึงสาธิตเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้ระบบสะสมพลังงานระบบ Smart-Grid ของประเทศไทย อีกทั้งยังใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการสะสมพลังงานในระบบ Smart Grid ของประเทศ โดยเราคาดหวังว่า
การประยุกต์ใช้ระบบสะสมพลังงานในระบบ Smart Grid สามารถแบ่งตามรูปแบบของการใช้งานได้ 3 รูปแบบหลัก คือ 1) รูปแบบ Power Quality & UPS 2) รูปแบบ Bridging Power หรือ Shading Power และ 3) รูปแบบ Energy Management ซึ่งแต่ละรูปแบบการใช้งานนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบ Smart Grid ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
วิทยาลัยพลังงานทดแทนมีเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ มีอาคารภายในวิทยาลัยฯ จำนวน 7 อาคาร ซึ่งใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้นต่อวันประมาณ 8,000 - 10,000 หน่วยต่อเดือน ภายในวิทยาลัยพลังงานทดแทนมีการติดตั้งระบบ Micro Grid ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบผลิตไฟฟ้าแสงเซลล์แสงอาทิตย์ 130 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักของวิทยาลัยฯ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด 100 กิโลวัตต์สำหรับเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรอง ระบบสะสมพลังงานขนาด 400 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถใช้เพื่อทำงานใน 3 รูปแบบหลักตามที่ได้อธิบายไปในข้างต้น
ด้าน กิตติ ธนนิธิกุล ผู้เชี่ยวชาญระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เผยว่า “ทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสนำเสนอโซลูชั่นระบบพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการ เทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานที่เหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้งานในโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมสานต่อแนวคิดให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวข้างต้นยังถือเป็นต้นแบบให้กับการไฟฟ้าและหน่วยงานอื่นๆ ของประเทศอีกด้วย”
“ทางชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ทำการติดตั้งโซลูชั่นแบบครบวงจรให้กับโครงการนี้ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาสินค้าและอุปกรณ์ รวมถึงการติดตั้งและการบริหารงานทั้งหมด สำหรับโครงการโซลาร์รูฟท็อปขนาด 130 กิโลวัตต์ อาทิเช่น โซลาร์อินเวอร์เตอร์ทั้งแบบระบบ On-Grid และ Hybrid Inverter Battery Backup รวมถึงระบบมอนิเตอริ่งที่สามารถใช้ควบคุมและดูภาพรวมของโรงไฟฟ้าทั้งโครงการ เป็นต้น” กิตติ กล่าว และว่า
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ภูมิใจที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานในประเทศไทย บริษัทฯ พร้อมที่จะเป็นผู้ให้บริการทั้งด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นด้านระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับแนวหน้า พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นที่ครบวงจร ไปจนถึงการให้บริการ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ระบบ Micro-Grid ณ พื้นที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร โครงการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2552 ถือเป็นระบบ  Micro Grid แห่งแรกของโลกที่ใช้แหล่งจ่ายไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อจ่ายให้ภาระทางไฟฟ้าทั้งหมด 100%
ในการพัฒนางานวิจัยด้าน Smart Gird ของวิทยาลัยพลังงานทดแทน มน.นั้นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 3 ระยะ จากก่อนหน้าในระยะที่ 1(พ.ศ. 2549-2554) และในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2554-2557)

SERT Micro Grid (การพัฒนาระยะที่ 1 พ.ศ. 2549-2554)
Micro Grid คือ รูปแบบของระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งทำงานอยู่ภายใต้ระบบควบคุม ภายในระบบประกอบด้วย ระบบผลิตไฟฟ้าซึ่งอาจมาจากพลังงานฟอสซิล หรือพลังงานหมุนเวียน ระบบสะสมพลังงาน และภาระทางไฟฟ้า ระบบ Micro Grid จะเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้ากำลังหลัก (เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้า) โดยระบบสามารถแยกตัวอิสระ(Islanding Operation) ออกจากระบบไฟฟ้ากำลังหลักกรณีเกิดปัญหา โดยสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับภายในโครงข่ายไฟฟ้าของตนเอง และเมื่อระบบไฟฟ้ากำลังหลักกลับมาอยู่ในสภาวะปรกติระบบ Micro Grid ก็สามารถกลับเข้าไปเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้ากำลังหลักได้อย่างปรกติ

SERT Smart Grid (การพัฒนาระยะที่ 2 พ.ศ. 2554-2557)
Smart Grid แนวคิดหลักของโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะนั้นคือการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กลายเป็น ระบบไฟฟ้าที่มีความชาญฉลาด ใช้ทรัพยากรให้น้อยลง มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีความน่าเชื่อถือ ยั่งยืน ปลอดภัย ร่วมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้โดยการพัฒนาเทคโนโลยีระบบตรวจวัด ระบบเก็บข้อมูล ระบบสื่อสาร โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีลักษณะการกระจายตัว (Renewable Energy Distributed Generation; REDG)
SERT Smart Grid เป็นการพัฒนาต่อยอดจากระบบ Micro Grid โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในการดำเนินงาน “โครงการศึกษาวิจัยระบบสะสมพลังงานที่เหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้งานในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น