เรกูเลเตอร์เห็นชอบ TPA Code ของ บมจ.ปตท. และ PTTLNG แล้ว พร้อมเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีได้ ช่วยลดการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรกูเลเตอร์ ในฐานะโฆษก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมาเรกูเลเตอร์ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อ TPA Code ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.) ที่ใช้ชื่อว่า “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม” สำหรับการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้ และของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ที่ใช้ชื่อว่า “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการสถานี LNG แก่บุคคลที่สามและการเชื่อมต่อ (Third Party Access Code : TPA Code) สำหรับสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด” สำหรับการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อสถานีแอลเอ็นจีได้ โดยทั้ง 2 ราย ได้มีการประกาศใช้ TPA Code ดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.erc.or.th
สำหรับ TPA Code เป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ผู้เป็นเจ้าของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือสถานีแอลเอ็นจี ต้องจัดทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่สามที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติจาก กกพ. หรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซ หรือสถานีแอลเอ็นจีได้ เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติและมีการบริการของระบบโครงข่ายพลังงานอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.
ทั้งนี้ สาระสำคัญใน TPA Code ประกอบด้วย สิทธิภาระผูกพันและหน้าที่ ขอบเขตการเปิดใช้หรือเชื่อมต่อ ข้อกำหนดการเชื่อมต่อ การเชื่อมต่อใหม่และการปรับปรุงการเชื่อมต่อ การจัดสรรสิทธิการใช้ความสามารถในการให้บริการ ประเภทการให้บริการ ข้อกำหนดคุณสมบัติก๊าซ การวัดก๊าซ การยื่นคำขอเชื่อมต่อสถานี และอัตราค่าบริการ เป็นต้น การประกาศเพื่อเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. และสถานีแอลเอ็นจีของ PTTLNG นี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีแอลเอ็นจีมีการใช้งานอย่างเต็มสมรรถนะ ลดการผูกขาด และทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น สุดท้ายผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจะได้รับประโยชน์ด้านราคาจากกลไกการแข่งขันดังกล่าว