xs
xsm
sm
md
lg

“รพ.หัวเฉียว” ทุ่ม 1 พันล้านบาทมุ่งให้บริการครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“สุธี เกตุศิริ” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลหัวเฉียว
ASTVผู้จัดการรายวัน - อัดงบประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงปี 2555-2559 เดินหน้ามุ่งขยายบริการทางการแพทย์เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ หลังทำรายได้ 900 ล้านบาทในปี 57 เน้นพัฒนาบุคลากร ไอที อาคารใหม่ พร้อมผุดศูนย์โรคเฉพาะทางครอบคลุมรอบด้าน ก่อนขยายบริการเพิ่มเป็น 500 เตียงในปี 2564

นายสุธี เกตุศิริ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลหัวเฉียว เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลหัวเฉียวมีขนาด 338 เตียง ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) ปีละประมาณ 5 แสนคน แบ่งสัดส่วนเป็นผู้ป่วยที่ชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง 50% และผู้ป่วยประกันสังคม 50% โดยในช่วงปี 2555-2557 มีการใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาทในการปรับปรุงพื้นที่และลงทุนด้านครุภัณฑ์กว่า 80 ล้านบาทในการจัดเพิ่มเติมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย

ในปี 2557 โรงพยาบาลมีรายได้ประมาณ 900 ล้านบาท จากการให้บริการรักษาพยาบาลและให้เช่าพื้นที่บางส่วน เช่น ร้านอาหารและร้านจำหน่ายสินค้า คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 10% จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้ประมาณปีละ 400-500 ล้านบาท

“โรงพยาบาลมีรายได้ส่วนใหญ่จากผู้ป่วยที่ชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองนั้นประมาณ 70% ส่วนอีก 30% เป็นรายได้จากผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและคู่สัญญา เช่น สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกันชีวิต และกลุ่มธุรกิจองค์กรต่างๆ ซึ่งมีการเติบโตขึ้นประมาณ 16% ด้วยจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 6-8% โดยในส่วนของผู้ป่วยประกันสังคมปัจจุบันมีประมาณ 8.7 หมื่นราย ในขณะที่ศักยภาพของโรงพยาบาลสามารถรองรับได้ประมาณ 1 แสนราย”

*** พร้อมขยายบริการ 500 เตียงในปี 64 ***
นายสุธีกล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลมีความพร้อมที่จะขยายการให้บริการเป็น 400-500 เตียงภายในปี 2564 โดยมีแผนขยายฐานผู้รับบริการจากสำนักงานประกันสังคม บริษัทประกันชีวิต และกลุ่มธุรกิจองค์กรต่างๆ เพิ่มเป็น 30% รวมถึงกลุ่มผู้รับบริการที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากในปี 2557 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 4,433 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย 3,917 ราย คิดเป็นชาวจีนกว่า 80% ยุโรป 349 ราย สหรัฐอเมริกา 75 ราย แอฟริกา 13 ราย และอื่นๆ 79 ราย โดยมีการใช้งบประมาณการตลาดประมาณ 20-30 ล้านบาทในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ตลอดจนมอบค่าส่วนลดบริการด้านต่างๆ

“แม้ว่าโรงพยาบาลหัวเฉียวจะยึดหลักการดำเนินการเพื่อบริการสังคมโดยไม่หวังผลประโยชน์ด้านกำไรทางธุรกิจ หรือ Social Enterprise แต่ก็มีนโยบายที่จะต้องบริหารรายได้และดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดด้วยตนเอง โดยคาดว่าในปี 2558 จะมีรายได้ประมาณ 920-930 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้ป่วยกลุ่มสิทธิประกันสังคมและคู่สัญญาที่เป็นคนทำงานรุ่นใหม่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากอาการเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น จากเดิมที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและมักมีอาการเฉียบพลันจากโรคอันตรายมากกว่า” นายสุธีกล่าว

*** แบ่ง 4 กลุ่มผู้ป่วย เน้นให้บริการผู้ยากจน ***
นายสุธีกล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลหัวเฉียวอยู่ภายใต้การดูแลของ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2485 มีปณิธานในการรักษาพยาบาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงโดยไม่เลือกชนชั้น แต่จะให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยและยากจนด้วยการกำหนดนโยบายการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผลเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพและคุณค่าที่ผู้ป่วยและญาติจะได้รับ

โรงพยาบาลหัวเฉียวแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีฐานะดี เน้นค่ารักษาพยาบาลที่ถูกและคุ้มค่ากว่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ, ผู้ป่วยกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง เน้นค่ารักษาที่ไม่แพงและคุ้มค่า, ผู้ป่วยกลุ่มที่มีฐานะปานกลางลงมา เน้นค่ารักษาที่สามารถจ่ายได้ และผู้ป่วยกลุ่มที่มีรายได้น้อยและฐานะยากจน เน้นค่ารักษาพยาบาลได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จาก “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”

ทั้งนี้ ในแต่ละปี “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ โดยในปี 2558 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 51 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อย โครงการให้ทุนการศึกษาพยาบาล โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยฟอกไต เงินช่วยเหลือค่ายาส่วนเกินสิทธิประกันสังคม ตลอดจนการให้ส่วนลดค่าบริการและรักษาพยาบาล กรณีคนไข้ผู้ป่วยใน และอื่นๆ เป็นต้น

*** เน้นเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย ***
นายสุธีกล่าวด้วยว่า ในช่วงปี 2558-2559 โรงพยาบาลยังเตรียมงบประมาณลงทุนด้านต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งงบประมาณด้านการลงทุนออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอาคารสถานที่ ด้านบุคลากรทางการแพทย์ และด้านสารสนเทศด้วยการพัฒนาระบบไอทีให้ทันสมัย โดยมีเป้าหมายให้แพทย์ได้รับความสะดวกในการสั่งการรักษาและผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุด

ปัจจุบันโรงพยาบาลกำลังปรับปรุงหอผู้ป่วยนอก (OPD) และหอผู้ป่วยใน (IPD) ตลอดจนการก่อสร้างอาคารใหม่ 7 ชั้นเพื่อรองรับคนไข้กลุ่มประกันสังคม โดยในปี 2558 มีแผนเปิดศูนย์หัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Cath Center) ภายในเดือน มี.ค.ศกนี้ จากนั้นจะเปิดให้บริการหน่วยดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน (Vascular Intervention Unit) เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัญหาด้านหลอดเลือดที่ไม่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย โดยในปี 2559 มีแผนเปิดให้บริการด้านรักษาเส้นเลือดในสมอง (Stroke Unit) และศูนย์รับผู้ป่วยทารกแรกเกิด (New Born Referral Center)

อนึ่ง ในส่วนของการลงทุนช่วงที่ผ่านมาคือการปรับปรุงพื้นที่สำคัญ เช่น ห้องผ่าตัด, หอผู้ป่วยใน (IPD) ห้อง ICU สำหรับผู้ใหญ่และเด็กทารก, คลินิกผู้ป่วยนอก, ศูนย์รังสีวิทยา, ห้องโภชนาการสำหรับเตรียมอาหารผู้ป่วย พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนและจัดเพิ่มเติมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้แก่ เปลี่ยนเครื่อง CT-Scan จากเดิม 2 Slices เป็น 64 Slices รวมถึงเปลี่ยนเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมจากระบบแอนะล็อกเป็นดิจิตอล เป็นต้น




หอผู้ป่วยใน (IPD) ภายหลังการปรับปรุง
ศูนย์รับผู้ป่วยทารกแรกเกิด (New Born Referral Center)
เครื่องตรวจมะเร็งเต้านมระบบดิจิตอล
ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ (Cath Lab)
เครื่อง CT-Scan จากเดิม 2 Slices เป็น 64 Slices
ภายในห้องผ่าตัดหลังการปรับปรุงใหม่

กำลังโหลดความคิดเห็น