xs
xsm
sm
md
lg

3 หน่วยงานเล็งผุดคลัสเตอร์พลาสติกเขต ศก.พิเศษแม่สอดปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.-PTTGC กลุ่มพลาสติก ส.อ.ท.ลงนามศึกษาจัดตั้งคลัสเตอร์พลาสติกนำร่องในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก คาดสิ้นปีเห็นพิมพ์เขียว ปี 60 เปิดเชิงพาณิชย์หวังลงทุนเบื้องต้นหมื่นล้านบาท ดันสินค้าลุยขายชายแดนเพิ่มส่งออกไทย เล็งคลัสเตอร์กระดาษและอาหารคิวต่อไป

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการลงนามร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บมจ.พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนการจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลาสติกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า การพัฒนาพื้นที่รองรับดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการส่งออกสินค้าชายแดนให้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่จะนำมาจัดตั้งนิคมฯ รองรับคลัสเตอร์พลาสติกดังกล่าว

“แนวคิดคือแทนที่เราจะขนสินค้าสำเร็จรูปไปขายเพื่อนบ้านตามชายแดนที่ขณะนี้มีความต้องการสูงมากในสินค้าพลาสติกพื้นฐาน เช่น ถุง ถัง กะละมัง หวี เหล่านี้ก็คิดว่าน่าจะไปช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ใกล้เคียงใช้แรงงานเพื่อนบ้านและกระจายขายไปลดต้นทุนขนส่งได้มาก ประกอบกับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่รัฐวางไว้ ซึ่งพื้นที่มีศักยภาพคือ อ.แม่สอด จ.ตาก 1 ใน 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐผลักดันที่ปัจจุบันการค้าจุดนี้มีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะขึ้นไปถึงแสนล้านบาทได้เร็วๆ นี้ โดยวันที่ 16 มี.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะสรุปจุดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่จะเน้นเป็นพื้นที่ของรัฐเป็นหลัก” นายจักรมณฑ์กล่าว

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า พื้นที่การพัฒนาเบื้องต้นที่มองไว้คือ 1,000-2,000 ไร่ มองพื้นที่ไว้ 2 แห่ง คือ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.สระแก้ว แต่เบื้องต้นคงเป็น อ.แม่สอดก่อน คาดว่าจะใช้เงินพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 1,000-2,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท การศึกษาความเป็นไปได้โครงการคาดว่าจะเห็นพิมพ์เขียวในปี 2558 ดำเนินการพัฒนาปี 2559 และเปิดเชิงพาณิชย์ได้ปี 2560 ขณะเดียวกันยังมองคลัสเตอร์กระดาษและบรรจุภัณฑ์และคลัสเตอร์เครื่องดื่มและอาหารที่จะพัฒนาต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. PTTGC กล่าวว่า อ.แม่สอด จ.ตากเป็นพื้นที่เหมาะสมสุดในการพัฒนา โดยบริษัทพร้อมที่จะก่อสร้างคลังเม็ดพลาสติกที่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าพลาสติกพื้นฐานซึ่งจะมีต้นทุนที่ต่ำ เพื่อจำหน่ายไปยังเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า และยังมีเส้นทางส่งออกไปยังลาว และเวียดนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น