“กนอ.” เตรียมลงนาม 10 มี.ค. ร่วม PTTGC ส.อ.ท. และสถาบันพลาสติกศึกษาแผนผุดนิคมฯ พลาสติกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เล็ง อ.แม่สอด และ จ.สระแก้ว พร้อมจีบ ปูนใหญ่ศึกษานิคมฯ บรรจุภัณฑ์คิวต่อไป
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.มีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเน้นให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) โดยจะนำร่องคลัสเตอร์พลาสติก ซึ่ง กนอ.จะลงนามร่วม บ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) กลุ่มพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันพลาสติกเพื่อร่วมศึกษาพื้นที่เหมาะสมและรูปแบบดำเนินการวันที่ 10 มี.ค.นี้ และหลังจากนั้นมองไปที่คลัสเตอร์บรรจุภัณฑ์และกระดาษ
“คลัสเตอร์พลาสติกนั้นเรามองพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ 2 จุด คือที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.สระแก้ว ซึ่งจำนวนพื้นที่จะเป็นขนาดใดนั้นก็จะต้องหารือกันในรายละเอียด สิ่งที่ กนอ.มองโอกาสเพราะเห็นว่าเวลานี้สินค้าพลาสติกมีการกระจายอยู่ตามชายแดนอยู่แล้วจึงน่าจะไปส่งเสริมให้เกิดในพื้นที่เลย จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและขายเพื่อนบ้าน ส่วนบรรจุภัณฑ์กำลังประสานกับคุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยในการร่วมมือเป็นลำดับต่อไป โดยพื้นที่มองไว้ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก” นายวีรพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ กนอ.ยังเตรียมออกมาตรการสนับสนุนโครงการจัดตั้งนิคมฯ ในพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ตามยุทธศาสตร์ประเทศในระยะที่ 2 โดย กนอ.จะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.-31 พ.ค. 58 ในภาคเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก ลำปาง กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พะเยา และเชียงใหม่ และนิคมฯ ในพื้นที่เป้าหมายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด เช่น ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี เป็นต้น
โดย กนอ.จะสนับสนุนมาตรการสำหรับผู้ที่ได้คัดเลือก เช่น การสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (OSS) พื้นที่ 500 ตารางเมตร วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ยกเว้นค่ากำกับการบริหาร 2 ปี โดยคิดค่ากำกับการบริหารในปีที่ 5 เป็นต้นไป สนับสนุนการฝึกอบรมหลักสูตรนักพัฒนานิคมฯ มืออาชีพ รวมถึงการทำสื่อประชาสัมพันธ์