xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเผยผลโรดโชว์ญี่ปุ่น 3 เมืองหลัก นักลงทุนการันตีไม่หนีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บีโอไอ” เผยผลการเดินทางไปชักจูงการลงทุนใน 3 เมืองอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โตเกียว นาโกยา และโอซากา นักลงทุนญี่ปุ่นขานรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของไทย และยืนยันจะขยายการลงทุนในไทยต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอเตรียมจับคู่ธุรกิจรองรับเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย พร้อมด้วย นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะของบีโอไอ ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป
ส่วนเรื่องนโยบายใหม่นักลงทุนญี่ปุ่นก็เข้าใจถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่บีโอไอและรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ ได้แก่ กิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC) รวมถึงการลงทุนเพิ่มในด้านการวิจัย พัฒนา และการฝึกอบรมบุคลากร และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิจตอลอีโคโนมี โดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทั้งบีโอไอและรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในไทย

นอกจากนี้ การพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านยานยนต์ของญี่ปุ่นและมีบริษัทมากกว่า 280 รายเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้วนั้น ได้รับคำยืนยันว่าประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของบริษัทจากจังหวัดไอจิ และผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิก็มีแผนการนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาขยายความร่วมมือทางธุรกิจกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี

ส่วนการชักชวนกิจการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอจะเน้นการให้บริการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผ่านหน่วยงานในสังกัด เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ BUILD ของบีโอไอ เพื่อสนับสนุนให้การลงทุนของเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยสามารถดำเนินการได้ราบรื่น โดยจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเอสเอ็มอีญี่ปุ่นมีศักยภาพในด้านการผลิต ขณะที่ผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยจะช่วยด้านการบริหารจัดการ
กำลังโหลดความคิดเห็น