กระทรวงอุตสาหกรรมเผยโครงการสินเชื่อผู้ประกอบการยางเพื่อซื้อน้ำยางดิบสต๊อกหมื่นล้านบาท ล่าสุดมีผู้ยื่น 41 ราย วงเงิน 5,271 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับเงินกู้เรียบร้อยแล้ว 12 ราย กว่า 684 ล้านบาท ผ่าน 4 สถาบันการเงิน
นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางเพื่อรับซื้อน้ำยางดิบมาเก็บสต๊อกไว้ในช่วงที่ผลผลิตสูงวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุดกระทรวงฯ ในฐานะผู้จัดทำโครงการมีผู้มายื่นขอสนับสนุนฯ แล้ว 41 ราย วงเงิน 5,271 ล้านบาท
“โครงการนี้จะเก็บสต๊อกยางที่ออกสู่ตลาดมากระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึง เดือนเมษายน 2558 ในวงเงินสินเชื่อหมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ซึ่งผู้กู้จะชำระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ที่เหลือรัฐชดเชย โดยผู้กู้จะต้องชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยภายในเวลาไม่เกิน 1 ปีนับจากวันทำสัญญา ซึ่งจากการประกาศรับสมัครตั้งแต่ 19 พ.ย. 57 ถึง 30 ม.ค. 58 มีผู้มายื่น 41 ราย ก็คิดว่าจะมีเข้ามาเพิ่มอีก” นางอรรชกากล่าว
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับเงินกู้แล้ว 12 ราย คิดเป็นเงิน 684.3 ล้านบาท จาก 4 สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 ราย รวม 260 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 ราย วงเงินรวม 272 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 1 ราย 30 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 1 ราย 22.3 ล้านบาท ส่วนการสนับสนุนสินเชื่อในโครงการดังกล่าว จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 พบว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ตามลำดับ
“มีผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติและอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำสัญญาจำนวน 16 ราย วงเงินรวม 1,577 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 13 รายอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างธนาคารกับผู้ประกอบการ” นางอรรชกากล่าว