“พาณิชย์” คาดราคาผักสดหน้าร้อนปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังผลผลิตลด แต่มั่นใจไม่ขาดแคลน เหตุพื้นที่เพาะปลูกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก เตรียมจัดทีมตรวจตลาด หากพบเริ่มมีปัญหาส่งผักจากที่อื่นเข้าแทรกแซงทันที เผยนำเข้าน้ำมันปาล์มที่ผ่านมาไม่ทำราคาในประเทศร่วง เล็งตรวจสต๊อก หวั่นภัยแล้งทำต่ำกว่าระดับปลอดภัย และจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาผักสดในช่วงหน้าร้อนตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.ว่า ราคาน่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล แต่ยืนยันว่าผักจะไม่มีปัญหาขาดแคลนเพราะมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เช่น โคราช สุพรรณบุรี อ่างทอง เป็นต้น ทำให้ปริมาณผักมีสูงขึ้น แม้ปริมาณผลผลิตต่อไร่จะลดลงในช่วงหน้าแล้ง จึงจะไม่ส่งผลต่อราคามากนัก
ทั้งนี้ กรมฯ ได้กำหนดแนวทางดูแลสถานการณ์ราคาไว้ล่วงหน้าด้วยการจัดชุดสายตรวจราคาผักสดในช่วงหน้าแล้ง หากพบว่าพื้นที่ใดมีราคาสูงขึ้นมากจะเข้าไปตรวจสอบถึงความเหมาะสมของราคาจำหน่าย เพื่อไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคามากจนเกินไป จากนั้นจะประสานไปยังผู้ปลูกในแหล่งเพาะปลูกอื่นๆ ให้นำสินค้าไปทดแทน เพื่อทำให้ราคาในพื้นที่นั้นๆ อ่อนตัวลง
“หน้าแล้งผลผลิตต่อไร่ส่วนใหญ่จะลดลง ราคาอาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ผลผลิตจะไม่ขาดแคลนเพราะมีพื้นที่เพาะปลูกใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา และเชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าจะไม่กล้าปรับราคาสูงจนเกินไป เพราะหากผู้บริโภครับไม่ได้กรมฯ จะนำผักจากพื้นที่เพาะปลูกอื่นๆ มาทดแทนทันที คาดว่าหน้าแล้งนี้สถานการณ์ราคาผักสดจะไม่น่าห่วง” นายอิทธิพงศ์กล่าว
สำหรับราคาผักสดในตลาดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 คะน้ากิโลกรัม (กก.) ละ 10-12 บาท จากวันที่ 18 ก.พ. กก.ละ 8-10 บาท มะนาวแป้น (เบอร์ 1-2) ลูกละ 3-3.50 บาท จากลูกละ 2.50-3.00 บาท ผักกวางตุ้ง กก.ละ 10-12 บาท จาก กก.ละ 8-10 บาท สาเหตุมาจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ผู้ประกอบการหยุดค้าขาย และคาดว่าจากนี้ราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนมะนาวราคาสูงขึ้นเพราะในช่วงหน้าแล้งผลผลิตลดลง
นายอิทธิพงศ์กล่าวว่า ทางด้านสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน พบว่าผลผลิตปาล์มสดหรือปาล์มทะลายไม่อ่อนตัวลงแม้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากอินโดนีเซียครบ 50,000 ตันแล้ว โดยราคาผลปาล์มสดเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 5.90-6.00 บาท (น้ำมัน 17%) เพราะน้ำมันปาล์มดิบที่นำเข้ากระทรวงพาณิชย์กำหนดชัดเจนว่าต้องนำไปใช้สำหรับบริโภคและบรรจุเป็นน้ำมันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตรเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อราคาผลปาล์มสดในประเทศ
ส่วนสต๊อกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งเป็นมาตรการเสริมที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้โรงกลั่น โรงสกัดแจ้งปริมาณมายังกรมฯ เท่านั้น หากพบว่ามีปริมาณต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจะรายงานต่อที่ประชุมอนุกรรมการปาล์มน้ำมัน ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งกำหนดประชุมทุก 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ปัญหาต่างๆ รวดเร็ว เพราะประเมินว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้จะทำให้ผลปาล์มสดออกน้อย และมีปริมาณน้ำมันน้อยลง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยสต๊อกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคในประเทศที่ระดับปลอดภัยต้องมี 200,000 ตันต่อเดือน หากมีปริมาณเพียง 170,000-180,000 ตันต่อเดือนจะถือว่าเป็นระดับเฝ้าระวัง