xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.กางผลศึกษา 3 ปีข้างหน้า 5 อุตฯ หลักต้องการแรงงานทะลุ 3.2 ล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สศอ.” จัดทำการประเมินความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเน้น 5 สาขาหลักที่จ้างแรงงานสูง ได้แก่ อุตฯ อาหาร สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลอุปกรณ์ อีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2558-60) จะต้องการแรงงานสูงถึง 3.26 ล้านคน
 

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ประเมินความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน (LEED-X+) จากทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนจากการคาดการณ์ช่วง 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2560) ความต้องการแรงงานใน 5 สาขาอุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างแรงงานสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวม 3,268,000 คน

โดยแยกเป็นรายสาขาดังนี้ 1. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 1,310,000 คน 2.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 885,000 คน 3. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 470,000 คน 4. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 430,000 คน 5. อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ 173,000 คน ซึ่งทั้งหมดนี้บางส่วนจำเป็นจะต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและสิ่งทอที่ใช้แรงงานต่างด้าวอยู่แล้วในปัจจุบัน

จากข้อมูลเบื้องต้นสะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงมีความต้องการแรงงานอย่างมาก ซึ่งในหลายภาคการผลิตได้อาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนความต้องการแรงงาน ประกอบกับแนวโน้มของโครงสร้างประชากรไทยที่มีอัตราการเกิดต่ำ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีมาตรการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกระยะ

โดยในระยะสั้นมี 2 มาตรการ คือ 1) ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพทักษะฝีมือแก่แรงงานใหม่ก่อนเข้าทำงาน หรือกำลังจะเข้าสู่การทำงานให้มีความรู้ ความสามารถในการทำงาน หรือมีสมรรถนะเพิ่มขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพ 2) สนับสนุนโรงงาน/สถานประกอบการมีส่วนร่วมในนโยบายส่งเสริม Talent Mobility ที่ได้รับการผลักดันจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากนโยบายดังกล่าวส่งเสริมให้บุคลากร/นักวิจัยของหน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน
 
สำหรับระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1) เพิ่มประสิทธิภาพหรือความสามารถของแรงงาน ทั้งทางตรงคือการอบรมเพิ่มทักษะและการศึกษา และทางอ้อมโดยการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยผู้ประกอบการไทยจะต้องยกระดับการผลิต เปลี่ยนจากการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกมาเป็นแรงงานที่มีความชำนาญด้านเครื่องจักร 2) สนับสนุนให้มีการลงทุนใน 3 ด้าน คือ การลงทุนในเครื่องจักร การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการลงทุนพัฒนาแรงงานด้านทักษะและการศึกษา เพื่อสร้างแรงงานที่มีผลิตภาพสูงและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และ 3) ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานด้านกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น