กระทรวงอุตฯ ออกประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ใช้งบลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท เริ่มผลิตปุ๋ยโปแตชได้ภายในปี 2018 จำนวน 5.5 แสนตัน
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีมอบประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชฉบับแรกของไทยอย่างเป็นทางการ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ให้กับบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ประทานบัตรเลขที่ 31708/16118 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี
สัดส่วนการถือหุ้นบริษัทจะประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 24.17% กรมธนารักษ์ 11.50% บมจ.บางจาก 11.32% ประเทศอินโดนีเซีย 9.81% มาเลเซีย 9.81% กลุ่มไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง 22.46% อาซาฮี 1.84% เครือเจริญโภคภัณฑ์ 0.80% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ประเทศละ 0.75% โดยรวมแล้วฝ่ายไทยถือหุ้นสูงสุด 67.30% ประเทศสมาชิกอาเซียน 21.87% และอื่นๆ 10.83%
นายสมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ จะผลิตโปแตชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน มูลค่าการลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา 25 ปีจะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 17.33 ล้านตัน โดยคาดว่าจากกำลังการผลิตดังกล่าวบริษัทฯ จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5-6 ปี
“โดยบริษัทฯ จะเริ่มผลิตปุ๋ยโปแตชได้ในปี 2018 มีกำลังการผลิตประมาณ 5.58 แสนตัน ในปี 2019 จะผลิตได้ 8.8 แสนตัน และในปี 2020 จะผลิตได้เต็มที่ 1.1 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะเป็นการใช้ในประเทศประมาณ 8 แสนตัน/ปี และจะโตขึ้นประมาณปีละ 2.5-4% ที่เหลือจะส่งออกไปต่างประเทศ โดยจะเน้นป้อนให้ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยลดราคาปุ๋ยโปแตชได้ประมาณ 10-25%” นายสมัยกล่าว