ระบุตลาดบัตรเครดิตไทยเติบโตสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก ทั้งจำนวนบัตร 8.9% และมูลค่า 12% เผยคนไทยใช้จ่ายบัตรผ่าน 3 ธุรกรรมหลัก คือ การเดินทางท่องเที่ยวทางอากาศ การประกันภัย และบริการด้านการเงินถึง 80% เตรียมขยายบริการรับ “อี-คอมเมิร์ซ” ที่เติบโตถึง 11%
นายสมบูรณ์ ครบธีระนนท์ ผู้จัดการวีซ่าประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2557 ระบุว่าเงินสดยังคงเป็นตัวเลือกหลักในการใช้จ่ายประจำวันของผู้บริโภคชาวไทยกว่า 80% แต่การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบัตรต่างๆ ยังเติบโตขึ้นถึง 17% โดยในปี 2557 แม้เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนและไม่มีเสถียรภาพ แต่การเติบโตของจำนวนบัตรเครดิต “วีซ่า” ในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้นถึง 8.9%
การเติบโตดังกล่าวนับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีเพียง 5.8% ส่วนมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต “วีซ่า” ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 12% เปรียบเทียบกับยอดการทำธุรกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพียง 6.4% ขณะที่มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านบัตรเดบิตวีซ่าก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 12.7% เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 5.2%
นายสมบูรณ์กล่าวด้วยว่า ในปี 2558 ถือเป็นปีที่ 21 ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย “วีซ่า” จึงมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้น โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนขยับขยายการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการจาก “วีซ่า” และพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อให้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการทำธุรกรรมสำหรับทุกคนในทุกๆ สถานที่
“ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทย เราได้สร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยร่วมออกบัตรวีซ่าจำนวนหลายสิบล้านใบและเพิ่มจุดรับบัตรในหลายหมื่นร้านค้าซึ่งเป็นการเชื่อมโยงประเทศไทยกับเครือข่ายการค้าโลก ขณะที่ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงพร้อมที่จะขยายธุรกิจหลักให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น รวมถึงขับเคลื่อนบริการต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน อาทิ การชำระเงินแบบไร้สัมผัสผ่านบัตร หรือวีซ่า เพย์เวฟ และธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”
นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า โอกาสค้าปลีกในไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่บริบทใหม่และ “วีซ่า” กำลังปรับบทบาทให้ทันสมัยในการสร้างอนาคตของการพาณิชย์โดยเร่งการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินรวมถึงบริการใหม่ๆ ในการตอบสนองรูปแบบการทำธุรกรรมที่หลายหลาย โดยเฉพาะระบบการชำระเงินอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนสูงถึง 11% จากการชำระเงินทั้งหมดของ “วีซ่า” ในประเทศไทยซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเติบโตในอนาคต โดยการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านบัตรวีซ่าในอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีจำนวนสูงสุด มีปริมาณมากถึง 80% ได้แก่ การเดินทางท่องเที่ยวทางอากาศ การประกันภัย และบริการด้านการเงิน
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเรื่อง The Visa e-Commerce Consumer Monitor 2014 ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. 57 โดย Nielsen Research ในนามของ “วีซ่า” เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยสัมภาษณ์ 500 ผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง พบว่า 70% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามมีการซื้อสินค้าออนไลน์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การชำระเงินแบบอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยสูงขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศสิงคโปร์
ขณะเดียวกันยังผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งคือ The Visa Consumer Payment Attitudes Study 2014 จัดทำขึ้นในเดือน ก.ค.57 โดย BlackBox ในนามของ “วีซ่า” เพื่อศึกษาความคิดเห็นผู้บริโภคต่ออี-คอมเมิร์ซโดยการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 2 พันคนใน 4 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย พบว่าผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 9 จาก 10 รายให้ข้อมูลว่าเป็นผู้ใช้อี-คอมเมิร์ซในระดับกลางถึง 25% และนิยมใช้ระบบอี-คอมเมิร์ซถึง 64% โดย 51% ยังซื้อของผ่านโทรศัพท์มือถือ