“กฟผ.” เผยแม้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาทั้งภูมิพลและสิริกิติ์จะมีน้ำใช้งานจริงเหลือต่ำ แต่มั่นใจรับมือได้แม้ฝนทิ้งช่วงถึง มิ.ย. 58 เหตุงดทำนาปรัง พืชฤดูแล้งทำให้น้ำจะมีเพียงพอบริโภค ขณะที่โรงงานพื้นที่ตะวันออกโล่ง มั่นใจไม่เกิดวิกฤตขาดน้ำในภาคอุตสาหกรรม
นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ซึ่งเป็นเขื่อนหลักในการป้อนน้ำให้แก่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาพรวมปัจจุบันจะมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้เหลือน้อยแต่ยังสามารถดูแลปริมาณน้ำการบริโภคได้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งปีนี้หรือช่วง เม.ย. 58 และหากฝนทิ้งช่วงก็สามารถจะรับมือได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 58 เนื่องจากเกษตรกรให้ความร่วมมือในการงดทำนาปรังและพืชฤดูแล้งทำให้การใช้น้ำลดลงตามเป้าหมาย
“กรณีน้ำเค็มรุกคืบนั้นที่ผ่านมามีความน่ากังวลอยู่แต่ก็มีการดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและเมื่อน้ำ 2 เขื่อนหลักมีการใช้ไปตามแผนนี้ปัญหาน้ำเค็มก็จะดีขึ้น” นายณัฐจพนธ์กล่าว
สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้งานได้จริง ล่าสุด ณ วันที่ 11 ก.พ. 58 ที่ระดับ 2,131 ล้านลูกบาศก์เมตรถือเป็นระดับน้ำที่ใช้ได้จริงเหลือน้อยเป็นลำดับที่ 5 ตั้งแต่มีเขื่อนมา โดยวิกฤตน้ำน้อยที่เกิดขึ้นในอดีตมีดังนี้ 1. ปี 2537 มีน้ำใช้งาน 1,018 ล้าน ลบ.ม. 2. ปี 2542 น้ำใช้งานอยู่ที่ 1,040 ล้าน ลบ.ม. 3. ปี 2523 น้ำใช้งานได้จริงอยู่ที่ 1,704 ล้าน ลบ.ม. และอันดับ 4 ปี 2534 น้ำใช้งานได้จริง 1,997 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้งานได้จริง ล่าสุดวันที่ 11 ก.พ. 58 อยู่ที่ 2,809 ล้านลบ.ม. ถือเป็นปริมาณน้ำใช้งานได้จริงเหลือน้อยสุดเป็นอันดับที่ 12 โดยครั้งที่ 1 ปี 2537 มีน้ำใช้งาน 648 ล้าน ลบ.ม. 2. ปี 2523 มีน้ำใช้งาน 1,237 ล้าน ลบ.ม. 3. ปี 2535 มีน้ำใช้งาน 1,570 ล้าน ลบ.ม. 4. ปี 2531 มีน้ำใช้งาน 1,689 ล้าน ลบ.ม. 5. ปี 2536 มีน้ำใช้งาน 1,840 ล้าน ลบ.ม. 6. ปี 2553 น้ำใช้งาน 1,916 ล้าน ลบ.ม. 7. ปี 2556 น้ำใช้งาน 1,931 ล้าน ลบ.ม. 8. ปี 2521 น้ำใช้งาน 1,942 ล้าน ลบ.ม. 9. ปี 2542 น้ำใช้งานได้ 2,019 ล้าน ลบ.ม. 10. ปี 2534 น้ำใช้งานได้ 2,099 ล้าน ลบ.ม. 11. ปี 2557 น้ำใช้งานได้ 2,317 ล้าน ลบ.ม.
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้แจ้งเตือนไปยังภาคอุตสาหกรรมให้ยังคงช่วยประหยัดน้ำใช้แม้ว่าวิกฤตขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมช่วงฤดูแล้งนี้จะผ่านพ้นไปได้เพราะช่วงปลายปี 2557 มีปริมาณน้ำฝนตกลงอ่างเพิ่ม ประกอบกับจะมีการวางท่อน้ำดิบจากอ่างประแสร์เชื่อมกับหนองปลาไหล
“เราก็คลายกังวลว่าแล้งนี้จะไม่มีปัญหาขาดน้ำในภาคอุตสาหกรรม และที่ผ่านมาปัญหาน้ำเค็มเองช่วง ม.ค.ที่รุกคืบมากจากการติดตามร่วมกับทุกฝ่ายสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ทุกอย่างก็น่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี” นายบวรกล่าว