ASTVผู้จัดการรายวัน - สมาคมผู้ค้าปลีกไทยแจง 4 ข้อเสนอแนะ พร้อมเสนอรัฐบาล-คสช.เร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด หวังกระจายเม็ดเงินไปภูมิภาคและกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่างที่มีกว่า 60% เร่งจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น พร้อมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศดึงกำลังซื้อผู้บริโภคระดับกลางถึงสูง คาดปี 57 มูลค่าตลาดค้าปลีกไทยพุ่งเกิน 3 ล้านล้านบาท ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภายในเดือน ม.ค. ศกนี้สมาคมฯ จะยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อร่วมกันหามาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. เร่งผลักดันการลงทุนด้านสาธารณูปโภค (Infrastructure) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า (Logistic) 2. เร่งหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศโดยผลักดันประเทศไทยเป็น Shopping Destination และกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ปานกลางและสูง 3. เร่งผลักดันให้สินค้าแบรนด์ไทย (Thailand Brands) มีความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกและสร้างเอกลักษณ์ในการแข่งขันในตลาดส่งออกเพื่อเพิ่มมูลค่า และ 4. ร่วมมือกับธุรกิจค้าปลีกที่มีเครือข่ายต่างประเทศในการผลักดันสินค้าไทยมีจำหน่ายในต่างประเทศ
ข้อเสนอแนะดังกล่าวยังถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประจำปี 2557-2559 คือ 1. ร่วมมือกับสถาบันพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมค้าปลีก 2. ร่วมมือกับองค์กรสถาบันที่เกี่ยวข้องเสนอให้จัดตั้ง “กระทรวงพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3. กำหนดยุทธศาสตร์ค้าปลีกค้าส่ง ประเทศไทย 2020 4. ผลักดันให้ภาครัฐประกาศให้ประเทศไทยเป็น Shopping Destination for Asia 5. ผลักดันให้สินค้าแบรนด์ไทยขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคอาเซียน 5. เร่งขยายธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศ 6. ส่งเสริมการค้าชายแดน และ 7. มุ่งเน้นพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เนื่องจากอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นห่วงโซ่สำคัญของระบบการขนส่งสินค้า เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลเร่งรัดการลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งโครงการเศรษฐกิจดิจิตอล โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟรางคู่ และอื่นๆ ให้เกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือน ย่อมส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2558 มีเม็ดเงินกระจายไปยังผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง รวมถึงเกษตรกร และผู้ใช้แรงงานซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น”
*** แนะตั้ง “เขตปลอดภาษี” ดึงกำลังซื้อนักท่องเที่ยว ***
นางสาวจริยากล่าวอีกว่า รัฐบาลยังควรเร่งหามาตรการใหม่ๆ ในการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระจายเม็ดเงินไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เช่น การผลักดันให้ภูเก็ตเป็น “เขตปลอดภาษี” ด้วยการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก หรือลักชัวรีแบรนด์ เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภคกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงสูงซึ่งได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2557
“ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยยังต้องพึ่งพาภาคการส่งออก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างเอกลักษณ์สินค้าไทยให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจนเป็นมาตรฐานสินค้าแบรนด์ไทย หรือ Thailand Brands เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรออร์แกนิก แฟชั่น อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ซึ่งหลายๆ ประเทศต่างให้การยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งยกเป็นสินค้าต้นแบบในการพัฒนาต่อยอด”
*** คาดเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3/58 ***
นางสาวจริยากล่าวด้วยว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ระบุว่า GDP ของประเทศไทยในปี 2557 มีอัตราการเติบโต 0.8% นั้น ในส่วนของภาพรวมดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีการขยายตัวเพียง 3.25% อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากการชะลอตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การจับจ่ายยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงล่าง เกษตรกร และผู้ใช้แรงงานยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบต่างๆ จะค่อยๆ คลี่คลายลงและส่งผลภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 3/2558 และส่งผลให้อุตสาหกรรมค้าปลีกมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2556 คือประมาณ 6.3% ซึ่งแม้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีซึ่งมีประมาณ 7% แต่ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง
*** มั่นใจปี 58 มูลค่าตลาดเกิน 3 ล้านล้านบาท ***
ด้าน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวเสริมว่า อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกจะมีความแปรผันและเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามอัตราการเติบโตทาง GDP ของประเทศ เพราะขึ้นอยู่กับอัตราการบริโภคของประชาชนในประเทศเป็นหลัก
ดร.ฉัตรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีสมาชิก 113 บริษัท มียอดขายรวม 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของมูลค่ารวมตลาดค้าปลีกไทย 2.77 ล้านบาทในปี 2556 โดยคาดว่าในปี 2557 ตลาดรวมจะเติบโตขึ้นประมาณ 1-1.5% คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 3 ล้านล้านบาท
สำหรับดัชนีค้าปลีกจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในปี 2557 พบว่า สินค้าหมวดคงทน (Durable Goods) ได้แก่ สินค้าไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง และอื่นๆ เติบโตเพียง 2.7% ลดลงจากปี 2556 ที่เติบโต 8.5% ซึ่งเป็นการลดลงตามความอ่อนตัวด้านราคาของวัสดุปุกรณ์ก่อสร้าง ขณะที่ความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดทีวีดิจิตอลยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเท่าที่ควร
ส่วนสินค้าหมวดกึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ และอื่นๆ เติบโต 3.4% ลดลงเล็กน้อยจาก 5.5% ในปี 2556 เนื่องจากผู้บริโภคที่มีระดับรายได้กลางถึงสูงได้รับผลกระทบน้อยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่สินค้าหมวดไม่คงทน (Non Durable Goods) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันมีการเติบโต 3.1% ลดลงจากปี 2556 ที่เติบโต 4.5% สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงผลกระทบจากปัญหาหนี้สินของครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
*** ค้าปลีกทุกหมวดขยายสาขาต่อเนื่อง ***
ดร.ฉัตรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะยังไม่ฟื้นตัวนัก แต่ในภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกกลับมีการขยายสาขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อรัฐบาล โดยพบว่ากลุ่มธุรกิจค้าปลีกยังคงมีการขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ซูเปอร์มาร์เกตเติบโตขึ้น 6.5% คอนวีเนียนสโตร์เติบโตขึ้น 4.5% ดีพาร์ทเมนต์สโตร์เติบโตขึ้น 3.4% ซูเปอร์เซ็นเตอร์เติบโตขึ้น 2.6% และกลุ่มร้านค้าเฉพาะทางเติบโตขึ้น 2.7%
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ใช่อาหาร (Non Food) แบ่งเป็น หมวดห้างสรรพสินค้า (Department Store) ขยายสาขาเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มี 61 แห่งเป็น 69 แห่ง หมวดวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง (Home Improvement & D.I.Y.) เพิ่มขึ้นจาก 162 แห่งเป็น 178 แห่ง
ขณะเดียวกัน หมวดไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ (Consumer & Electronics & Applience) กลับมีการลดสาขาลงเล็กน้อยจาก 1,466 แห่งเหลือ 1,435 แห่ง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น โดยหมวดสุขภาพและความงาม (Health & Beauty Store) ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงสุดคือเพิ่มขึ้นจาก 980 แห่งเป็น 1,146 แห่ง โดยคาดว่าจะยังมีอัตราการเติบโตสูงสุดในปี 2558
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร (Food) พบว่ามีการขยายสาขาดังนี้ ซูเปอร์เซ็นเตอร์และไฮเปอร์มาร์เกต มีสาขาเพิ่มขึ้นจาก 328 แห่งในปี 2556 เป็น 341 แห่ง ซูเปอร์มาร์เกต เพิ่มจาก 361 แห่งเป็น 428 แห่ง ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ เพิ่มจาก 11,632 แห่งเป็น 12,451 แห่ง
“การเติบโตดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะกระจายไปยังพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนมากขึ้นสอดรับกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยคาดว่าสัดส่วนการขยายสาขาของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในปี 2558 จะเปลี่ยนเป็นต่างจังหวัด 72% กรุงเทพฯ 28% จากปี 2557 ที่เป็นต่างจังหวัด 65% กรุงเทพฯ 35%” ดร.ฉัตรชัยกล่าวในที่สุด