“ณรงค์ชัย” เผยรอรับเอกสารจาก “สปช.” แต่รับเป็นเพียงแค่คำแนะนำกระทรวงเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ดีแล้วว่าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เหมาะสมสุดขณะนี้ ลั่นเดินหน้าตามกรอบปิดให้ยื่น 18 ก.พ. 58 เพื่อรักษาเกียรติยศประเทศ เหตุชะลอหรือเลิกกระทบเชื่อมั่น
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานรอเอกสารที่จะส่งความเห็นและคำแนะนำจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีมติ 130 ต่อ 79 คะแนน ไม่เห็นด้วยข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.ในการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยืนยันว่าได้มีการวิเคราะห์แล้วและเห็นว่าระบบสัมปทานเป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงยังคงเดินหน้าตามกรอบที่กำหนดคือจะปิดการยื่นขอรับสิทธิ์สำรวจภายใน 18 ก.พ. 58 เพื่อรักษาเกียรติยศของประเทศไทย เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนแปลงจะทำให้นานาชาติไม่เชื่อถือกระทบต่อความเชื่อมั่นได้
“หน้าที่ของ สปช.คือให้คำแนะนำ เราก็จะนำมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่กระทรวงพลังงานเป็นผู้ปฏิบัติ เราออกประกาศไปก็เพราะว่าเห็นว่าเหมาะสมแล้วเพราะประเทศเราเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ได้มีมากมาย ระบบสัมปทานจะเอื้อให้คนเสี่ยงมาสำรวจเพราะถ้าพบปิโตรเลียมน้อยก็จ่ายน้อย พบเยอะก็จ่ายเยอะ ส่วนกรณีมีผู้เสนอระบบแบ่งปันผลประโยชน์หรือ PSC นั้นก็คิดว่าถ้าพบว่าดีจริงก็จะทำได้ในการเปิดรอบหน้า” นายณรงค์ชัยกล่าว
สำหรับแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ ซึ่งเชฟรอนได้สัมปทาน และแหล่งบงกช ที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้รับสัมปทานจะหมดอายุลงปี 2565-66 นั้นกรรมสิทธิ์ทั้งหมดก็จะตกเป็นของรัฐไม่มีการต่ออายุสัมปทานแต่อย่างใด แต่รูปแบบจะมาดำเนินการต่อเพื่อให้มีการผลิตต่อเนื่องนั้นก็มีหลายรูปแบบ เช่น รับจ้างผลิต หรือจะผลิตเอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สรุปแต่จะสรุปแนวทางดำเนินการให้ได้ภายในปีนี้
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากไทยมีการชะลอหรือยกเลิกการเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะกระทบต่อความเชื่อมั่น และการเปิดสัมปทานครั้งนี้ก็ยืนยันว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและผลประโยชน์ก็ไม่ได้น้อยไปกว่า PSC โดยขั้นตอนเอกชนจะยื่นภายใน 18 ก.พ.นี้ หลังจากนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอนกว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติจะใช้เวลา 6-7 เดือน และเอกชนก็จะต้องไปสำรวจขั้นตอนต่างๆ ก็ใช้เวลา 4 ปี รวมแล้วกว่าจะพบและเริ่มผลิตจะเร็วสุดปี 2562 แต่หากเราจะต้องปรับมาเป็นระบบ PSC จะต้องไปทำข้อกฎหมาย ต้องผ่านความเห็นสภาฯ ซึ่งเฉพาะกฎหมายก็ใช้เวลา 4-5 ปีแล้วจึงจะเริ่มขั้นตอนมาเปิดให้ยื่นได้ซึ่งก็จะช้าขณะที่ไทยมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น