xs
xsm
sm
md
lg

“สุวพันธุ์” เมิน สปช.ค้านเปิดสัมปทานฯ อ้างฝ่ายบริหารวิเคราะห์แล้ว ถ้ามีผลเสียรัฐก็ต้องรับผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เผย “วิษณุ” หัวหน้าทีมคุย สปช.วันนี้ คุยประสานงานระหว่างกัน ผลักดันกฏหมายที่เป็นประโยชน์ ตั้งวิป 2 ฝ่ายประชุมจันทร์-อังคาร หวังเดินหน้าปฏิรูป แย้ม “อาคม” เตรียมสรุปข้อเสนอปฏิรูประบบราชการ ส่วนเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมต้องแยก 2 ส่วน ทั้งส่วนปฏิรูปและการบริหาร อ้างวิเคราะห์เป็นขั้นตอนแล้ว หากเกิดผลดีหรือเสียรัฐก็ต้องรับผิดชอบ

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการหารือกับสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในเวลา 14.30 น.วันนี้ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าทีม ในการอธิบายถึงความคิดเห็นของรัฐบาลที่มีต่อการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในเรื่องของการประสานงานระหว่างรัฐบาลและสปช.เพื่อผลักดันแนวทางปฏิรูปให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปีที่จะต้องมีการผลักดันกฎหมายที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนออกมาโดยเร็ว เช่น ข้อเสนอแนวทางปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะหารือถึงแนวทางการประสานงาน โดยจะมีการกำหนดการหารือกันแบบเป็นทางการ อย่างที่รัฐบาลดำเนินการกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ มีการตั้งวิปประสานงานขึ้นมาทั้งสองฝ่าย ประชุมทุกวันจันทร์ และวันอังคาร และจะให้มีการประสานงานกันอย่างไม่เป็นทางการด้วย โดยจะเป็นการพบปะพูดคุยเป็นการส่วนตัวระหว่างตัวแทนทั้งสองฝ่ายเพื่อให้การทำงานใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นในการเดินหน้าปฎิรูปประเทศ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ในที่ประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จะร่วมทีมไปบรรยายสรุปข้อเสนอในการปฏิรูประบบราชการที่มาจากการระดมความคิดเห็นจากทุกส่วนราชการ มานำเสนอต่อที่ประชุมด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปของ สปช.ที่จะกำหนดกรอบการปฏิรูประบบราชการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันถึง ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานต่างๆ เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งทางรัฐบาลเห็นว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ประเด็นในการปฏิรูป และการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ และที่ต้องแยกออกจากกัน เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน มีการพิจารณาและวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการดำเนินการประเด็นนี้มาเป็นอย่างดี หากจะเกิดผลดีหรือผลเสีย ในฐานะรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น