xs
xsm
sm
md
lg

ปี 57 เหล้านอกทรุดหนัก การเมืองซัดติดลบ 19%

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการรายวัน - ตลาดสุรานำเข้าเผชิญปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 56 หลังถูกปรับเพิ่มภาษีเกือบ 20% ก่อนอ่วมหนักเพราะกฎอัยการศึกและเคอร์ฟิวส์ทำนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย ด้าน “เพอร์นอร์ด ริคาร์ด” พลิกเกมลดสต๊อกสินค้าหลังยอดขายตกตั้งแต่ปี 56 พร้อมทำรายได้หลักจาก “ชีวาส รีกัล” และ “ฮันเดรด ไพเพอร์ส” ย้ำปี 58 ตลาดรวม 1.2-1.5 ล้านลังยังคงติดลบราว 19% เผยเทรนด์ผู้บริโภคหันมานิยม “ไวท์ สปิริต” เพิ่มขึ้น

นายกฤษดา กมลวรินทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เพอร์นอร์ด ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสุรานำเข้าจากต่างประเทศกว่า 20 แบรนด์ เปิดเผยถึงภาพรวมของตลาดในปี 2557 ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นปีที่ตกต่ำมาก โดยคาดว่าตลาดรวม (ไม่รวมไวน์) ซึ่งมีปริมาณจำหน่ายประมาณ 1.2-1.5 ล้านลังต่อปี อาจติดลบ 19% เพราะได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตเกือบ 20% จนกระทั่งเกิดการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปลายปี 2556 ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2557 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจนถึงปลายปี 2557

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ซึ่งมีการประกาศ Bangkok Shut Down จนกระทั่งมีการยึดอำนาจรัฐบาลรวมถึงการประกาศกฎอัยการศึกและประกาศเคอร์ฟิวส์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ยิ่งทำให้ตลาดรวมเริ่มซบเซาอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่สองจนถึงปัจจุบัน โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มสแตนดาร์ด วิสกี้ รองลงมาคือกลุ่มวิสกี้ระดับกลาง ขณะที่กลุ่มพรีเมียมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“กลุ่มเป้าหมายและตลาดหลักของสุรานำเข้าจากต่างประเทศคือชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวกลางคืนในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีทัศนคติต่อเรื่องการปิดถนนและชุมนุมทางการเมืองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จะหวาดกลัวมากต่อเรื่องการประกาศกฎอัยการศึก จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติลดลงจนถึงปัจจุบันซึ่งยังไม่เริ่มฟื้นตัวเท่าที่ควร”

สำหรับภาพรวมในปี 2558 คาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตที่ลดลงเช่นเดิม เนื่องจากยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงความมั่นใจของผู้บริโภคและความกังวลของนักลงทุน แต่สินค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะ “ไวท์ สปิริต” ประเภทวอดก้า รัม และจิน อาจมีการเติบโตขึ้นจากปัจจุบันที่มีปริมาณการจำหน่ายรวมประมาณ 2 แสนลังต่อปี เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มนิยมเครื่องดื่มประเภทนี้ในช่วงเวลากลางวันมากขึ้น โดยหวังว่าหากชาวต่างชาติเริ่มมีความมั่นใจและเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น อาจทำให้ตลาดรวมติดลบน้อยกว่า 19% ประมาณ 1-2%

นายกฤษดากล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ถือเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีเครื่องดื่มประเภทวิสกี้, ไวท์ สปิริต และแชมเปญ ประมาณ 15 แบรนด์ เช่น “Chivas Regal” (ชีวาส รีกัล), “100 Pipers” (ฮันเดรด ไพเพอร์ส), “ABSOLUT VODKA” (แอบโซลูต วอดก้า) และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีไวน์อีก 4 แบรนด์ เช่น “Jacob's Creek” (เจค็อบส์ ครีก), “Jacob's Creek Lamoon” (เจค็อบส์ ครีก ละมุน) และอื่นๆ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดรวม

“สำหรับการดำเนินงานของบริษัทฯ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักและมียอดขายติดลบมากในปี 2556 จนจำเป็นต้องลดสต็อกในตลาดเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ในปี 2557 สามารถทำตลาดได้ดีขึ้นในแง่ยอดขายแต่มีปริมาณการจำหน่ายลดน้อยลง โดยมีสัดส่วนรายได้หลักจากวิสกี้ คือ ชีวาส รีกัล 40% ฮันเดรด ไพเพอร์ส 20% ส่วนที่ 20% เป็นแอบโซลูต วอดก้า รวมทั้งไวน์ แชมเปญ และอื่นๆ โดยในส่วนของชีวาส รีกัล มีส่วนแบ่งจากตลาดรวมประมาณ 20% ขณะที่แอบโซลูต วอดก้า มีส่วนแบ่งในตลาดกลางคืน 54% และตลาดกลางวัน 40%”

นายกฤษดายังกล่าวถึงตลาดไวน์ในประเทศไทยด้วยว่า ในแง่มูลค่าของตลาดรวมคาดว่าน่าจะสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณเกือบ 10 ล้านลิตรต่อปี เพราะมีความหลากหลายในเรื่องผลิตภัณฑ์และแบรนด์มาก ทั้งยังไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดอย่างชัดเจน โดยส่วนตัวจึงเชื่อว่าหากได้ส่วนแบ่ง 4% จากตลาดรวมก็ถือว่าเป็นจำนวนมากแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะไวน์ราคาถูก-ปานกลางที่มีระดับราคาตั้งแต่ 500-3,000 บาท

“ตลาดไวน์มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2557 จะยังคงเติบโตอย่างน้อย 8% โดยเฉพาะไวน์นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีข้อได้เปรียบภายใต้ข้อตกลงเปิดเสรีทางด้านการค้า หรือ FTA ทำให้มีการเสียภาษีนำเข้าหลายระดับตั้งแต่ 0-36% จึงทำให้มีโอกาสทำตลาดและขยายฐานลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงที่เริ่มหันมานิยมดื่มไวน์มากขึ้นทั้งในลักษณะดื่มเพื่อสังสรรค์ และดื่มร่วมกับการรับประทานอาหาร”




กำลังโหลดความคิดเห็น