xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้รัฐเร่งต่อสัญญา SPP มิ.ย. “หวั่นกระทบเชื่อมั่นการลงทุนไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการนิคมฯ ผนึกกำลังผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP ออกโรงจี้รัฐบาลให้เร่งรัดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่จะทยอยหมดสัญญาภายในปี 2560-67 ภายใน มิ.ย.นี้ เหตุการก่อสร้างต้องใช้เวลา 3 ปีกว่า หากล่าช้าจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศ

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการนิคมฯ ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการพิจารณาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ที่จะทยอยหมดสัญญาแรกลงภายในปี 2560-2567 จำนวน 25 แห่ง ประมาณ 1,787 เมกะวัตต์ภายใน มิ.ย. 58 ทั้งนี้ เนื่องจาก SPP ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม หากมีการดำเนินการล่าช้าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของไทยในภาพรวมได้

“สาธารณูปโภคในนิคมฯ คือไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อกระบวนการผลิต ถ้าหากระบบไฟฟ้าไม่มีความต่อเนื่องก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ ซึ่ง SPP ดังกล่าวได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะหมดสัญญาระยะแรก ส่วนใหญ่จะกระจายตามนิคมฯ ทั่วประเทศ 20 แห่ง เช่น นิคมฯ มาบตาพุด อมตะ แหลมฉบัง เป็นต้น” นางอัญชลีกล่าว

นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า โครงการรับซื้อไฟจาก SPP ในนิคมฯ และเขตประกอบการ เฟสแรก 1,787 เมกะวัตต์ จะเริ่มหมดอายุตั้งแต่ปี 2560 สัญญา 21 ปี จึงต้องการให้เร่งรัดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาชุดเดิมที่จะหมดอายุลง (SPP Replacement) อย่างทันท่วงทีคือภายในไม่เกิน มิ.ย. เพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลากว่า 3 ปี

“SPP พร้อมที่จะเจรจาในเรื่องของอัตราการขายไฟฟ้าเข้าระบบถูกลงประมาณ 5-10 สตางค์ต่อหน่วยได้ เพราะการลงทุนจะต่ำเนื่องจากมีการลงทุนระบบสายส่งท่อไว้อยู่แล้ว” นายไพทูรกล่าว

นายโทรุ นางาฮาตะ ประธานบริษัท ซูมิโตโน รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการต้องการเห็นระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร โดยเฉพาะด้านไฟฟ้าและไอน้ำที่บริษัทซื้อโดยตรงจาก SPP เพื่อลดความเสี่ยงไฟฟ้าตก ดับ เพราะหากมีไฟฟ้าดับเพียง 0.06 วินาทีขึ้นไปจะสร้างความเสียหายต่อยาง 1,000 เส้น ซึ่งในอดีตเคยเกิดขึ้นแล้ว บริษัทต้องหันมาใช้ SPP ในนิคมฯ แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น