xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนแนะรัฐอุ้มสินค้าภาคเกษตรไตรมาสแรกด่วนฟื้นแรงซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กกร.” แนะรัฐบาลเร่งหามาตรการอุ้มราคาสินค้าภาคเกษตรไม่ให้ตกต่ำให้ชัดเจนภายในไตรมาสแรกปีนี้เพื่อเพิ่มการบริโภคภายในประเทศหลังปีที่ผ่านมาซบเซาหนัก หวังเป็นแรงหนุน ศก.ปี 2558 โต 4%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย วันนี้ (6 ม.ค.) ว่า กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4% จากปี 2557 ที่ขยายตัว 0.6-0.8% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือการบริโภคของคนไทยที่ในปี 2557 ไม่ดีนัก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำซึ่งจะมีผลต่อเนื่องในปีนี้ จึงต้องการให้ภาครัฐหามาตรการอุ้มหรือดูแลราคาสินค้าเกษตรให้ชัดเจนภายในไตรมาสแรกปีนี้เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ

“หากราคาสินค้าเกษตรดีก็จะไปเพิ่มแรงซื้อให้ชาวบ้าน รัฐบาลต้องลงมาดูแลการอุ้มหรืออุดหนุนราคาสินค้าเกษตรระยะสั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำแต่ต้องดูไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการดูแลราคาสินค้าเกษตรเหมือนที่ให้คนป่วยกินยาไม่ได้รักษาให้มันชัดเจนระยะยาว ก็จะต้องดูข้อมูลเกษตรต้องสื่อสารให้เกษตรกรเข้าใจและแนะนำการปลูกพืชที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรจะต้องเน้นการใช้สินค้าที่ผลิตในไทยด้วย” นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับราคาพลังงานภาพรวมโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า น้ำมันที่เริ่มปรับลดลงนั้น ภาพรวมคงไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าปี 2558 ปรับลดลงมากนัก แต่จะทำให้โอกาสปรับขึ้นมีน้อยลงมากกว่าเนื่องจากสาเหตุสำคัญคือต้นทุนด้านอื่นๆ ของการผลิตสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าแรงงาน วัตถุดิบบางส่วน แต่ราคาสินค้าที่ผ่านมาแทนที่จะขึ้นราคาก็ไม่สามารถทำได้เพราะแรงซื้อคนไทยชะลอตัวทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ต้องแข่งขันด้านราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า กกร.คาดว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะโตได้ 3.5-4% ส่วนการส่งออกจะโตได้ประมาณ 3.5-4% เช่นกันเนื่องจากมองว่าการบริโภคน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากรัฐ เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนราชการ การคงภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ปี ตลอดจนราคาพลังงานลดต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคต่อเนื่องในปี 2558

การลงทุนคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1. การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณปีก่อนๆ โดยเร่งรัดการทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสสอง 2. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 2558 วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ 3. การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนด้านลอจิสติกส์เพื่อพัฒนาการค้าชายแดน 4. การสานต่อการอนุมัติโครงการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น โครงการอีโคคาร์เฟส 2 เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น