xs
xsm
sm
md
lg

หนังไทยทะลุพันล้านปี 57 ฟาก “UIP” ทุบสถิติหนังเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปณณทัต พรหมสุภา” ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด
ASTVผู้จัดการรายวัน - ปิดฉากอุตสาหกรรมหนังปี 2557 มูลค่าตลาดรวมทะลุ 4.2 พันล้านบาท หนังไทยทะลุ 1 พันล้านบาท ค่าย “จีทีเอช” เข้าวินทั้ง 3 เรื่องค่าย ส่วน “ยูไอพี” ทุบสถิติใหม่หนังเทศที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในไทย ด้านเมเจอร์ฯ ย้ำชัดตลาดจะเติบโตดีด้วย 2 ปัจจัยหลัก ทั้งหน้าหนังกับโรงหนังที่มีคุณภาพและเข้าถึงตลาด

ปี 2557 ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความคึกคักอย่างมาก ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศที่เข้าฉายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการขยายตัวของโรงภาพยนตร์ที่มีค่าย “เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์” และ “เอสเอฟ” เป็นหัวเรือใหญ่ในการขยายสาขาใหม่ๆ และผลักดันให้ตลาดรวมทะลุ 4.2 พันล้านบาท แยกสัดส่วนเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ 74% ภาพยนตร์ไทย 25% หรือมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท ส่วนอีก 1% ที่เหลือเป็นภาพยนตร์อื่นๆ

*** “ยูไอพี” สร้างสถิติใหม่ ***
นายปณณทัต พรหมสุภา ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด หรือ “ยูไอพี ประเทศไทย” กล่าวว่า ในปี 2557 บริษัทฯ ได้นำภาพยนตร์ต่างประเทศมาฉายในประเทศไทยรวมทั้งหมด 18 เรื่อง สามารถทำรายได้รวม 770 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มูลค่าตลาดภาพยนตร์รวมทั้งไทยและเทศเข้าสู่หลัก 4.2 พันล้านบาท

นอกจากนั้น “ยูไอพี” ยังได้สร้างสถิติใหม่ในวงการภาพยนตร์ ด้วยการนำภาพยนตร์ “Transformers : Age of Extinction หรือ ทรานส์ฟอร์เมอร์ส 4 : มหาวิบัติยุคสูญพันธุ์” คว้าแชมป์ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในประเทศไทย ด้วยรายได้รวมมากกว่า 320 ล้านบาท และสร้างปรากฏการณ์ใหม่เปิดตัว 3 วันแรกทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท, 4 วันแรก 150 ล้านบาท สามารถทำรายได้ 7 วันแรก 200 ล้านบาท และคว้าแชมป์ภาพยนตร์เปิดตัวสัปดาห์แรกสูงสุดตลอดกาลในประเทศไทย

แม้ว่าปี 2557 รายได้รวมของบริษัทฯ จะลดลงกว่าปีที่แล้ว เพราะการเลื่อนฉายของภาพยนตร์เรื่อง “Fast and Furious 7” แต่ “ยูไอพี” ยังสามารถทำรายได้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาคต่อที่สามารถสร้างรายได้ระหว่าง 70-80 ล้านบาท เช่น Teenage Mutant Ninja Turtles (เต่านินจา), Lucy (ลูซี่ สวยพิฆาต), Noah (โนอาห์ มหาวิบัติวันล้างโลก) และ Hercules (เฮอร์คิวลีส) จึงทำให้ปีนี้เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของบริษัทฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า “ยูไอพี” เป็น 1 ใน 3 ค่ายยักษ์ภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยซึ่งยังไม่นับรวมค่ายใหญ่อย่าง “โคลัมเบียไทรสตาร์” ที่มีหนังฟอร์มดีทำเงินหลายเรื่องในปีนี้

*** หนังไทยค่าย “จีทีเอช” เข้าวินทั้ง 3 เรื่อง ***
หันมาดูมุมมองและความสำเร็จของค่ายหนังไทยในปี 2557 กันบ้าง

นายวิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท จีทีเอช จำกัด ให้ความเห็นว่า ปี 2557 เป็นปีที่กล่าวได้ว่าตลาดภาพยนตร์ไทยคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะมีปริมาณภาพยนตร์ไทยเข้าโรงภาพยนตร์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยประมาณการว่าน่าจะอยู่ที่ 70 เรื่อง ขณะที่ค่าย “จีทีเอช” มีส่วนแบ่งในตลาดแล้วมากกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่ภาพยนตร์ไทยมีปริมาณออกฉายมากและทำรายได้ดีเป็นที่ต้องการของตลาดมากในปีนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าต้นทุนการสร้างต่อเรื่องมีต้นทุนที่ต่ำลงกว่าในอดีต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อเรื่อง ประกอบกับผลพวงจากความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยอย่าง “พี่มาก พระโขนง” และ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ที่ทำรายได้มากมายนั้นเป็นแรงดึงดูดให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาได้รับความนิยมดีขึ้น และยังมีผู้สร้างค่ายใหม่เกิดขึ้นเพิ่มอีกด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จเสมอไป

ในส่วนของ “จีทีเอช” ปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับการที่มีภาพยนตร์เข้าฉายจำนวน 3 เรื่องและแต่ละเรื่องก็ทำรายได้อย่างดี ประกอบด้วยเรื่อง “คิดถึงวิทยา” ทำรายได้ 100 ล้านบาท เรื่อง “ฝากไว้ในกายเธอ” รายได้ 70 ล้านบาท และเรื่อง “ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้” ตั้งเป้า 300 ล้านบาท ขณะนี้ทำได้แล้ว 243.6 ล้านบาท โดยน่าจะส่งผลให้รายได้รวมปีนี้สูงกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวมประมาณ 600 ล้านบาท จากปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากหลายหน่วยธุรกิจ เช่น ซีรีส์, ซิตคอม, เมอร์ชันไดซ์, สปอนเซอร์ชิป, โฮมวิดีโอ และออนไลน์ รวมถึงแอปพลิเคชัน และสติกเกอร์ไลน์ เป็นต้น

*** “เมเจอร์ฯ” รุกหนักเพิ่มสาขา ***
ฟากของผู้ประกอบการโรงหนังอย่าง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ก็มีการรุกหนักในด้านการขยายสาขาไม่หยุดยั้ง ซึ่งปีนี้เปิดไปหลายสาขา ล่าสุดในช่วงท้ายปีนี้ได้เปิดอีก 2 สาขาใหม่ คือที่จังหวัดพังงา และมุกดาหาร

ปัจจุบัน “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” มี 75 สาขา รวม 513 โรง แบ่งเป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 29 สาขา จำนวน 281 โรง และต่างจังหวัด 45 สาขา จำนวน 255 โรง และต่างประเทศ 1 สาขา จำนวน 7 โรง สรุปถึงสิ้นปี 2557 เมื่อเปิดที่พังงากับมุกดาหารแล้ว เมเจอร์ฯ จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 77 สาขา รวม 520 โรง

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป กล่าวย้ำเสมอว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง โดยเมเจอร์ฯ มีแผนที่จะขยายสาขาทั้งในรูปแบบสแตนด์อะโลนกับรูปแบบที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งทุกวันนี้เมเจอร์ฯ ยังมีสาขาไม่ครบทั่วประเทศ จึงยังมีโอกาสอีกหลายจังหวัด ส่วนจังหวัดที่เปิดไปแล้วก็ยังมีศักยภาพที่จะเปิดสาขาที่ 2 ได้อีกหลายแห่ง

ขณะที่แผนลงทุนปี 2558 เมเจอร์ฯ วางแผนที่จะลงทุนขยายสาขาใหม่ให้มากที่สุดนับตั้งแต่เปิดบริการมาเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ต้องมีโรงภาพยนตร์กว่า 600 โรงภายในสิ้นปี 2558 ประกอบด้วยการขยายโรงภาพยนตร์รวม 101 โรงใน 19 สาขา เป็นโครงการใหญ่ เช่น เอ็มควอเธียร์ ซีเนอาร์ท, เซ็นทรัล เวสต์เกต, เซ็นทรัล อีสท์ วิลเลจ, เซ็นทรัล ระยอง เป็นต้น

เขากล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ขึ้นกับ 2 ปัจจัยหลัก คือ หน้าหนังดีหรือไม่ และมีโรงหนังที่มีคุณภาพที่เข้าถึงบริการผู้บริโภคได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้าสองปัจจัยนี้ตอบโจทย์ได้ก็จะทำให้อุตสาหกรรมหนังเติบโตไปได้ด้วยดี ส่วนภาพยนตร์ไทยนั้นปัจจุบันก็มีแนวโน้มดีขึ้น คนไทยยอมรับหนังไทยมากขึ้น เพราะการสร้างที่มีคุณภาพทั้งพล็อตหนังก็มีการพัฒนาขึ้นไปมาก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนภาพยนตร์ไทยต้องเพิ่มขึ้นจากทุกวันนี้ที่อยู่ในระดับ 25-30% แล้วแต่หน้าหนังด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น