“เจ้าสัวธนินท์” ยันข่าวลือซื้อ “เทสโก้ โลตัส” ย้ำที่ผ่านมาไม่เคยพบบิ๊กบอสของ “เทสโก้” แต่อย่างใด ถึงวันนี้ยังไม่มีการเจรจาและไม่ได้ตั้งทีมงานศึกษา แต่ถ้า “เทสโก้” ประกาศขายจริง “ซีพี” ก็สนใจและพร้อมที่จะซื้อแน่นอน
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวที่ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” จะเข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการเจรจาเป็นทางการแต่อย่างใด และย้ำว่ายังไม่มีการตั้งทีมงานศึกษาดีลนี้แต่อย่างใดด้วย
“เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทยยังแข็งแกร่งมาก มีหนี้สินไม่กี่ล้านบาท ฐานะการเงินก็ไม่ได้ล้มละลาย เพียงแต่ขาดเงินหมุนเวียนเล็กน้อย ย่อมมีผู้เสนอให้กู้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทแม่ก็เพิ่งแต่งตั้ง ซีอีโอ คนใหม่เข้ารับงาน จึงเป็นไปไม่ได้ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่แล้วจะมีนโยบายขายกิจการ
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า จนถึงวันนี้ตนยังไม่ได้เจรจา หรือพบกับผู้บริหาร หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของ “เทสโก้ โลตัส” และยังไม่ได้ยินว่าจะมีการประกาศขาย “เทสโก้ โลตัส” แต่อย่างใด ทั้งยังรู้ข่าวช้ากว่าสื่อไทยเสียอีก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับและเว็บไซต์บางแห่งกลับมีการระบุถึงจำนวนเงินที่ซื้อกิจการเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
“แต่ถ้าหาก เทสโก้ โลตัส จะขาย ผมก็สนใจและพร้อมที่จะซื้อ เพราะนโยบายของผมคือ ตลาดในโลกนี้เป็นของซีพี วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของซีพี คนเก่งในโลกนี้เป็นของซีพี เงินในโลกนี้เป็นของซีพี แต่อยู่ที่ว่าเราใช้เป็นหรือเปล่า เขายอมให้เราใช้หรือเปล่า”
อย่างไรก็ตาม นายธนินท์ ยอมรับว่า ในอนาคตหากมีธุรกิจอะไรที่ไม่ขัดกันก็น่าสนใจที่จะทำ เพราะตนอยู่ในวงการค้าปลีก ถ้าซื้อของถูกลง ลูกค้าก็ย่อมได้ประโยชน์ โดยปัจจุบัน “ซีพี” ก็ขายของให้ “เทสโก้ โลตัส” ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และเป็นพันธมิตรกันมาตลอด ในขณะที่ คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย ก็ยังนั่งเป็นประธานอยู่ที่ “เทสโก้ โลตัส” ประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ธุรกิจของ “เทสโก้ โลตัส”กับ “แม็คโคร” ขัดกันหรือไม่ นายธนินท์ ตอบว่า ไม่ขัดกัน เพราะ “เทสโก้ โลตัส” ทำไม่เหมือนกับ “แม็คโคร” โดย “ซีพี” มีนโยบายหลักคือทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์ โดยใช้เทคโนโลยีและความสามารถ เพื่อขายของถูก ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสามฝ่ายคือบริษัท คู่ค้า และผู้บริโภค
ต่อคำถามว่า หากมีการซื้อ “เทสโก้ โลตัส” จะมีการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกอย่างไร นายธนินท์ ตอบว่า การต่อยอดคือการทำให้สินค้ามีราคาถูกลง สิ่งที่ทำกันอยู่ต้องให้เข้มแข็งขึ้น เราแบ่งงานกับเกษตรกรชัดเจน อะไรที่เกษตรกรทำได้เราก็ส่งเสริม หรือแม้แต่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ทุกวันนี้ก็เป็นแฟรนไชส์มากกว่า 50% ตนมองว่าหากบริษัทใดมีคนเก่งก็สนใจเข้าร่วมถือหุ้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทุกอย่าง เพราะซีพีไม่มีบุคลากรมากพอที่จะบริหารธุรกิจได้ทุกอย่าง
“ถ้ามีโอกาสลงทุนแล้วได้ประโยชน์เราก็ลงทุน แต่ถ้าลงทุนแล้วขาดทุนก็ไม่เอา วิธีของผมคือ ถ้าคุณเก่ง ผมถือหุ้นแค่ 10% ก็พอ เพราะพอเติบโต 5 เท่า ผมก็โตเป็น 100% แล้ว อย่าง เทสโก้ โลตัส ถ้าเขาจะขาย ผมก็สนใจและพร้อมที่จะซื้อ หรือถ้าเขาให้ผมถือหุ้นผมก็เอา เพราะว่าเป็นของผมมาก่อน ลูกที่ผมเลี้ยงมาก่อนผมก็รักเหมือนกัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวี่แววเลย”
ต่อคำถามว่า มีเงื่อนไขหรือไม่ว่าหาก “เทสโก้ โลตัส” ขายธุรกิจจะต้องพิจารณาขายให้ “ซีพี” เป็นรายแรกในฐานะที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นมาก่อน นายธนินท์ ตอบว่า ไม่มีและไม่ได้คุยกันไว้แบบนั้น ในอดีตเราเคยขายหุ้นใน “เทสโก้ โลตัส” 75% เหลือไว้ 25% จนกระทั่งเขามีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ทำให้ราคาหุ้นดีขึ้น ประกอบกับมีวิกฤติต้มยำกุ้ง ตนจึงตัดสินใจขายหุ้นไปหมด เหมือนเรือเจอพายุ ต้องทิ้งของออกไปบางอย่างเพื่อรักษาเรือ จนทุกวันนี้ไม่มีหุ้นอยู่ใน “เทสโก้ โลตัส” แล้ว
นายธนินท์ กล่าวในตอนท้ายว่า ธุรกิจที่มีความน่าสนใจในอนาคตจากนี้ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ธุรกิจลอจิสติกส์และการขนส่ง เป็นต้น โดยมองว่าสถานการณ์ประเทศไทยจะดีมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ถ้าสงบเหมือนอย่างนี้ก็มีแต่ดี แต่ถ้าทะเลาะกันและไม่สงบนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติคงไม่มาแน่ โดยคาดว่าประเทศไทยจะยังคงเติบโตได้ประมาณ 4% และจะดีขึ้นอีกในปี 2558