ASTVผู้จัดการรายวัน - ส่อเค้ายุ่ง “นักการเมือง” ร่วมแจกกล่องดิจิตอล คณะกรรมการฯ ตรวจสอบชี้โครงการแจกคูปองไม่ควรเป็นเครื่องมือทางการเมือง ล่าสุดเรียก 1 ใน 3 แบรนด์ชี้แจงแล้ว พร้อมยื่นเรื่อง 7 พ.ย.ศกนี้ ให้ กสทช. พิจารณาความผิดอีกครั้ง
จากกรณีที่มีผู้จำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อกระจายกล่องทีวีดิจิตอลในโครงการแลกคูปอง 690 บาทของ กสทช. ไปยังสาขาของพรรคการเมืองในพื้นที่ต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยมีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เป็นกรรมการนั้น
ล่าสุด นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีผู้ประกอบการกล่องดิจิตอลจำนวนถึง 3 รายที่ได้ร่วมมือกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ทำการรับแลกคูปองดิจิตอลทีวีนั้น โดยวันนี้ (5 พ.ย.) ได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการรายหนึ่งที่เกีย่วข้องในกรณีดังกล่าวเข้ามาชี้แจงแล้ว ซึ่งทางตัวแทนรายนั้นได้ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้นและยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องดังกล่าวในความเป็นจริงพบว่ามีการดำเนินการไปแล้วด้วยการติดตั้งป้ายคัตเอาต์ของนักการเมืองบางรายที่มีการประชาสัมพันธ์ในการนำคูปองมาแลกกล่องดิจิตอล 3 แบรนด์ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อที่จะนำคูปองนั้นมาใช้กับแบรนด์ของตัวเอง
“ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีผู้ร้องเรียนโดยตรง แต่หากมีมูลก็ต้องมีการตรวจสอบ เนื่องจากงบประมาณแจกคูปองนี้ได้จากการประมูลโครงข่ายแห่งชาติ ไม่ควรที่จะเป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมือง”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 พ.ย.ศกนี้ จะมีการเรียกประชุมกันอีกครั้ง โดยหลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอ กสทช. ต่อไป และเป็นหน้าที่ของ กสทช. ว่าจะมีการเชิญตัวแทนอีก 2 แบรนด์มาตรวจสอบหรือไม่
นางสาวบุญยืน กล่าวต่อว่า โครงการแจกคูปองนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่มีโครงการใดที่จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย ซึ่งหลังจากมีการแจกคูปองล็อตแรกไปแล้วนั้นพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย แต่ส่วนใหญ่ต่างก็ได้รับคูปองกันเกือบหมดแล้ว จะมีปัญหาแค่บางรายเท่านั้น เช่น หมู่บ้านหนึ่งจะมีผู้ยังไม่ได้คูปอง 1-2 ราย หรือกรณีที่ไม่มีเจ้าบ้านจะถูกตัดสิทธิต้องไปชี้แจงก่อนจึงจะได้ รวมถึงกรณีสถานที่ราชการ หรือที่พักข้าราชการ อาจมีบ้านเลขที่เดียวแต่มีจำนวนผู้รับสิทธิหลายราย เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการกล่องดิจิตอลทีวีทั้ง 3 แบรนด์ที่ปรากฏอยู่ที่ป้ายคัตเอาต์ ได้แก่ แบรนด์ “เอเจ” แบรนด์ “อะโคเนติก” และแบรนด์ “สามารถ”
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวสรุปว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนี้หากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมทั้ง 56 บริษัทต้องการที่จะเพิ่มจุดจำหน่ายเพิ่มเติมจะต้องขออนุญาตจาก กสทช. ก่อน ซึ่งหากอิงพรรคการเมืองจะไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมองว่าไม่เหมาะสม ถ้าจะมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะเข้าข่ายการหาเสียงและอาจจะสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนได้ว่าโครงการทีวีดิจิตอลเป็นของพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นโครงการของชาติ
หลังจากนี้ กสทช. จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการทั้ง 56 บริษัทว่า หากต้องการเพิ่มจุดจำหน่ายจากที่แจ้งไว้ตอนแรก ต้องขอความเห็นชอบจาก กสทช. ก่อน ซึ่งขั้นตอนการเพิ่มจุดจำหน่ายนั้นหากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ต้องพิจารณาอีกครั้ง ส่วนในกรณีของแบรนด์ “เอเจ” ขณะนี้ได้หยุดแนวทางปฏิบัติไปแล้ว และอีก 2 รายจะมีการเรียกเข้ามาชี้แจงต่อไป