ASTVผู้จัดการรายวัน - ธุรกิจค้าปลีกในเซ็กเมนต์ห้างสรรพสินค้า หรือดีพาร์ตเมนต์สโตร์ในไทยมีทุนท้องถิ่นรายใหญ่คือ “เซ็นทรัล” กับ “โรบินสัน” ซึ่งเป็นเครือเดียวกัน และอีกค่ายคือ “เดอะมอลล์” ซึ่งแทบจะยึดตลาดไว้หมดแล้ว
จะมีสอดแทรกบ้างคือห้างจาก “ญี่ปุ่น” เพียง 2 แบรนด์ในไทยคือ “โตคิว” และ “อิเซตัน” ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ก็มิอาจถือเป็นคู่แข่งของห้างสัญชาติไทยได้ เพราะแต่ละแบรนด์ล้วนมีสาขาเดียว และจับกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้บริโภคที่นิยมชมชอบสินค้าญี่ปุ่น
ดังนั้นบทบาทของ “ห้างญี่ปุ่น” ในไทยจึงไม่ได้โดดเด่น หรือเป็นผู้กำหนดเทรนด์ตลาดเท่าใดนัก แตกต่างจากในอดีตที่ห้างสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาเปิดบริการในไทยมากและมีบทบาทไม่น้อย ผิดกับค้าปลีกเซกเมนต์อื่นในไทยที่ทุนจากญี่ปุ่นกลับมีบทบาทมากไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอนวีเนียสโตร์ สเปเชียลตี้สโตร์ หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ เป็นต้น
ทว่า วินาทีนี้ดูเหมือนว่าธุรกิจห้างญี่ปุ่นเริ่มมีความเคลื่อนไหวให้จับตามองอีกแล้ว…เมื่อ “ทาคาชิมาย่า” ยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัย บินข้ามฟ้ามาปักธงลงทุนในไทย !
นายโคจิ ซูซูกิ ประธานกรรมการ บริษัท ทาคาชิมาย่า จำกัด ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมที่มียอดขายติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทฯ ใช้เวลาศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยมาตลอดเวลา 30-40 ปีจนพบว่าในบางช่วงเวลาแม้ประเทศไทยอาจมีปัจจัยลบในบางด้านบ้าง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติ แต่โดยรวมแล้วไม่ถือเป็นผลกระทบในระยะยาว ทั้งยังคงมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่มีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีในประเทศไทย จึงทำให้ตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ห้างสรรพสินค้า “ทาคาชิมาย่า” กำเนิดขึ้นในไทย เป็นสาขาแรก ในนาม “บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งร่วมทุนกันระหว่าง “บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด” กับ “บริษัท ทาคาชิมาย่า จำกัด” ประเทศญี่ปุน ด้วยทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท ฝ่ายไทย 51% และญี่ปุ่น 49% ด้วยงบประมาณลงทุน 3,000 กว่าล้านบาท บนพื้นที่กว่า 36,000 ตารางเมตร ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ดิ ไอคอนสยาม” ถ.เจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการได้ภายในปี 2560
โครงการนี้สูง 7 ชั้น มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพสูงแบรนด์ดังระดับลักชัวรีจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และนานาประเทศทั่วโลก ทั้งในส่วนของเครื่องสำอาง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของสุภาพบุรุษและสตรี ผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร-เครื่องดื่ม และอื่นๆ
นายโคจิ ซูซูกิ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ไม่ถือเป็นการแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทยด้วยกัน เพราะผู้ประกอบการทั้ง 2 รายคือ “โตคิว” และ “อิเซตัน” ต่างดำเนินธุรกิจในลักษณะที่มอบประโยชน์สูงสุดให้แก่ลูกค้าซึ่งถือเป็นการแข่งขันในทิศทางที่ดีต่อธุรกิจ ส่วน “ทาคาชิมาย่า” เป็นการลงทุนในพื้นที่ที่ต่างกันคือฝั่งธนบุรี จึงเท่ากับเป็นการสร้างตลาดใหม่ โดยไม่ได้ไปแข่งขันกับสองห้างเดิมแต่อย่างใด
ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีห้างทุนไทยในย่านดังกล่าวด้วย จึงเท่ากับว่าเป็นกลยุทธ์รุกตลาดขั้นแรกที่ไร้คู่แข่งจริงๆ!
“เราเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีเครือข่ายซัปพลายเชนจัดหาสินค้าที่แข็งแกร่งที่สุดรายหนึ่งของวงการค้าปลีก เพื่อนำเสนอสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นและสินค้าแบรนด์ประเทศอื่นๆ มากมายที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย และยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่จะมีจำหน่ายเฉพาะที่ห้างสรรพสินค้าทาคาชิมาย่าสาขานี้เท่านั้น”
ยังไม่นับสินค้าเฮาส์แบรนด์ “Takashimaya” รวมถึงสินค้าแฟชั่นและสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดเล็กที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษของ “ทาคาชิมาย่า” โดยเฉพาะภายใต้แบรนด์ “Voice File” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในญี่ปุ่น
“ทาคาชิมาย่า มีสินค้าตามซีซันส์ หรือตามฤดูกาล สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าภายในร้านให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละฤดูกาล จึงมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงดิสเพลย์ หรือการจัดวางสินค้าและตัวสินค้าในร้านค้าอิสระเหล่านี้จะทำให้ภาพรวมของห้างสรรพสินค้ามีความแปลกใหม่และมีชีวิตชีวามาก ทั้งยังจะดึงดูดความสนใจของลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้มากเป็นพิเศษ”
นายยูทากะ ยามากูชิ กรรมการผู้จัดการโครงการในประเทศไทย บริษัท ทาคาชิมาย่า จำกัด กล่าวว่า เราตัดสินใจร่วมทุนกับไอคอนสยาม เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าในภูมิภาคได้มากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยและก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศอีกด้วย โดยประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของ “ทาคาชิมาย่า” เนื่องจากปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีรายได้สูงและเป็นผู้ที่มีรสนิยมดี จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าที่มีอำนาจการจับจ่ายและมองหาสินค้าคุณภาพสูงที่มีจำหน่ายที่ห้างของเราได้อย่างรวดเร็ว
ห้างสรรพสินค้า “ทาคาชิมาย่า” ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 180 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันมี 19 สาขาในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาขาต่างประเทศ 3 แห่ง คือ สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และไทเป นอกจากนี้ในปี 2559 ยังจะเปิดอีก 1 สาขาในกรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยมีเป้าหมายว่าภายในเวลา 5 ปี หรือปี 2561 จะมีสาขาในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นจำนวน 5 สาขา
“ในปี 2556 บริษัทฯ มีรายได้รวมมากกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้จากสาขาต่างประเทศประมาณ 15-20% โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องแผนการลงทุนต่างประเทศ 2 กลุ่ม คือ ประเทศจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน แต่หลังจากที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศจีน จึงทำให้เปลี่ยนแผนมาเน้นกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก” นายโคจิ ซูซูกิ กล่าว
นายโคจิ ซูซูกิ กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ห้างสรรพสินค้าถือเป็นธุรกิจที่ต้องวางแผนระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของตลาดต่างประเทศซึ่งแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันและต้องพิจารณาถึงปัจจัยด้านต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าการลงทุนแต่ละสาขาต้องใช้เวลาเท่าใดในการคืนทุนและทำผลกำไร เช่น สาขาสิงคโปร์ซึ่งเปิดดำเนินการมากว่า 20 ปี แต่เพิ่งมีผลกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2556 เพียง 3 เท่าตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นการลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้จึงคาดว่าอาจใช้เวลาคืนทุนประมาณ 5 ปีขึ้นไป
นี่คือกลยุทธ์และทิศทางของห้าง “ทาคาชิมาย่า” ที่จะรุกตลาดในไทยและคาดว่าจะมาสร้างสีสันวงการค้าปลีกได้อีกมุมหนึ่ง!
อย่างไรก็ตาม นอกจากห้าง “ทาคาชิมาย่า” แล้ว ยังมีอีก 2 ค่ายจากญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยมานาน โดยเฉพาะค่าย “โตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์” ที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เพียงสาขาเดียว เป็นเวลาเกือบ 30 ปีและกำลังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ “การขยายสาขาที่ 2 ณ ศูนย์การค้าพาราไดซ์ปาร์ค ถ.ศรีนครินทร์” ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดบริการได้ในไตรมาสแรกปี 2558
ทั้งนี้ ห้าง “โตคิว” สาขาที่ 2 เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เอ็ม บี เค กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้น 50% และบริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด ถือหุ้น 50% จากมูลค่าการลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ทำให้การขยายธุรกิจครั้งใหม่นี้ของ “โตคิว” ดูน่าเกรงขามไม่น้อย เพราะไม่ใช่การลุยเดี่ยว แต่เป็นการร่วมทุนกับทุนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ค้าปลีกมานาน อีกทั้งยังเป็นเจ้าของพื้นที่อันเป็นสถานที่ตั้งของ “โตคิว” อีกด้วย
“โตคิว” สาขาที่ 2 พาราไดซ์ปาร์ค มีพื้นที่ 13,165 ตารางเมตร พื้นที่ 2 ชั้น หวังเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกำลังซื้อกลางขึ้นสูงในย่านถนนศรีนครินทร์ในเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก มากกว่า 1,700,000 ครัวเรือน ครอบคลุม 10 เขตในรัศมี 10 กิโลเมตร
ส่วนอีกค่ายคือ “อิเซตัน” ที่เปิดดำเนินการในไทยมาตั้งแต่ปี 2535 แม้ยังไม่มีแผนขยายสาขาที่ 2 ในไทย แต่จะทำการปรับปรุงและบริการในสาขาเดียวที่เซ็นทรัลเวิลด์ให้ดีต่อเนื่อง ซึ่ง นายทาคิอะคุเนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย ) จำกัด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในช่วง 3-5 ปีจากนี้จะทำการปรับปรุงพื้นที่และบริการสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการชอปปิ้งของลูกค้า ส่วนยอดขายปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน ขณะที่ 3 ไตรมาสแรกปีนี้ยอดขายรวมยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 15-20% ส่วนยอดขายรวมปี 2556 มีประมาณ 1,400 ล้านบาท
แม้ว่าสัดส่วนตลาดห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นในไทยจะไม่มากก็ตาม แต่ก็มีกลุ่มเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนและมีการเติบโตแบบ “น้ำซึมบ่อทราย” เรื่อยๆ จึงคาดว่าหลังจากนี้ “ห้างญี่ปุ่น” คงจะสร้างสีสันด้านการตลาดให้กับค้าปลีกไทยไม่มากก็น้อย