“ประจิน” พร้อมหนุนงบกว่า 900 ล้านบาทให้ สบพ.ผุดอาคารเรียนผลิตนักบินและบุคลากรการบิน ดันไทยฮับการบิน และสั่งการ “รองปลัดคมนาคม” สำรวจสนามบินโคราช สานต่อแผนตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีประดับเครื่องหมายการบิน และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี-เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วานนี้ (22 ต.ค.) ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินทั้งเรื่องการผลิตบุคลากรด้านการบินและการซ่อมบำรุง อากาศยานขนาดกลางลงมา โดยเบื้องต้นได้รับทราบ โครงการก่อสร้างอาคารเรียนศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน อาคารฝ่ายอำนวยการและสิ่งก่อสร้างประกอบสถาบันการบินพลเรือน วงเงินกว่า 900 ล้านบาทแล้ว เนื่องจากมีความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้ สบพ.จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอกระทรวงเพื่อวิเคราะห์แผนงานโครงการอีกครั้งหากไม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมจะให้ความ้ห็นชอวเพื่อนำเสนอขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างต่อไป
ส่วนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมานั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเดินหน้าจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมการบินขึ้นศูนย์ซ่อมที่โคราช โดยล่าสุดได้มอบหมายให้นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบรายละเอียเการดำเนินโครงการว่าจะต้องมีการปรับปรุงหรือแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมหรือไม่ และจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ในการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อม ที่บริเวณกองบิน 1 สนามบินโคราชด้วยว่าจะต้องเพิ่มเติมส่วนใดบ้างและมีความเหมาะสมในการเป็นศูย์ซ่อมบำรุงตามความต้องการหรือไม่
“คงต้องรอให้รองปลัดฯวรเดชลงพื้นที่สำรวจรายละเอียดก่อนจึงจะสรุปได้ว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร แต่เป้าหมาย ยังคงต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งในส่วนของศูนย์ซ่อม และนักบินต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้มีมาตรฐาน โดยต้องมีทั้งความรู้ ความสามารถและจิตสำนึกในด้านความปลอดภัย” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
น.อ.เอกจิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการ สบพ.กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารเรียนศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน วงเงิน 959 ล้านบาท สบพ.ได้รับงบประมาณปี 2557 วงเงิน 16.8 ล้านบาท สำหรับการออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเสนอของบประมาณปี 2559 เพื่อก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2.5-3 ปี ประกอบด้วย 1. อาคารเรียนและสำนักงานบริหาร 16 ชั้น วงเงิน 521,871,600 บาท 2. อาคารโรงยิม วงเงิน 65,594,260 บาท 3. อาคารเรียน 3 ชั้น วงเงิน 10,218,600 บาท 4. ปรับปรุงอาคารเดิม วงเงิน 9,987,600 บาท 5. การพัฒนาพื้นที่/งานรื้อถอนและปรับปรุง วงเงิน 41,371,900 บาท ซึ่งจะอาคารที่มีพร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ล้ำหน้าในภูมิภาค และจะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาค ตามเป้าหมาย