โผโยกย้ายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 30 กันยายน 2557
แรกๆไม่มีอะไร ไปๆมาๆกลับทำท่าเหมือนจะมี เพราะพอไม่มีมติจากครม.ก็สมอ้างว่า ถอนออกมาทำโผใหม่ทำนองนั้น
โผใหม่ ไม่มีอะไรพลิกไปจากโผเก่า ยกเว้นหนึ่งเดียวคืออธิบดีกรมชลประทาน
แหล่งข่าวที่ไหนไม่รู้ ระบุว่า เดิมทีไม่โยกย้าย แต่สุดท้ายต้องย้ายและโยก เพราะทหารไม่วางใจใน 2 ประการ
หนึ่ง เป็นคนของพรรคเพื่อไทย รัฐบาลเก่า
สอง ประมูลก่อสร้างโครงการห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี กับ โครงการผาจุก จ.อุตรดิตถ์ รอบใหม่หลังคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ลดงบประมาณลงมาได้นับพันล้านบาท
ฟังแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นผลหนักแน่นไม่ใช่เล่น เป็นแต่ว่า เป็นข้อมูลจริงหรือไม่ และใครเป็นคนสร้างข่าว ลองติดตามดู
กรมชลประทาน หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 มีรายการจับอธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้นคือ ชลิต ดำรงศักดิ์ เซ่นสังเวยทางการเมือง ไม่งั้นจะกระทบต่อรัฐบาลเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทยยื่นข้อเสนอให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธีระ วงศ์สมุทร ไม่ก็ต้องย้ายอธิบดีกรมชลประทานออกไป
พรรคชาติไทยพัฒนา จำใจต้องย้าย ชลิต ดำรงศักดิ์ ไปเป็นรองปลัดกระทรวง เพื่อรักษาอวัยวะที่สำคัญทางการเมืองของตัวคือธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯและอดีตอธิบดีกรมชลประทานที่ให้การสนับสนุนชลิตขึ้นเป็นอธิบดีแทน
เป็นใครย่อมคับแค้นขัดเคือง เพื่อไทยในสายตาของชลิตเข้าข่าย ทีเอ็งไม่ว่า อย่าทีข้าก็แล้วกัน
ความไม่พอใจพรรคเพื่อไทย ยังส่งผลกระทบชิ่งถึงอธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ที่ชื่อ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ
อธิบดีเลิศวิโรจน์ไม่ใช่หน้าใหม่ในกรมชลประทาน เขาเป็นลูกหม้อมาก่อน ไต่เต้าจนถึงรองอธิบดีกรมชลประทาน แล้วโยกออกไปเป็นผู้ตรวจราชการประจำกระทรวง เลขาธิการสปก. และรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ
จริงๆแล้วโอกาสกลับกรมชลประทานน้อยมาก ยิ่งกับบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา กลับไม่ได้รับการสนับสนุนแม้แต่น้อย
แต่เมื่อเก้าอี้กรมชลประทานว่างเว้นลงจากการเด้งชลิต ดำรงศักดิ์ ช่องว่างนี้ทำให้เลิศวิโรจน์กลับมาเป็นอธิบดีกรมชลประทานได้แบบส้มหล่น
“ไม่มีตัวที่เหมาะสมจะขึ้น กติกาของกระทรวงเกษตรฯคือค้องซี 10 ไปซี10 ตอนนั้นมีเลิศวิโรจน์คนเดียว อีกอย่างคงจะปะเหมาะว่า พรรคเพื่อไทยเองต้องการลดอำนาจการเมืองและการเงินของพรรคชาติไทยพัฒนา เลิศวิโรจน์จึงเหมาะที่สุดในสถานการณ์นั้น” แหล่งข่าวกล่าว เพราะลึกลงไปพรรคเพื่อไทยก็ต้องการคุมกระทรวงเกษตรฯ เป็นที่ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่อยากมีศัตรูทางการเมืองเพิ่มก็ต้องสั่งถอย
เลิศวิโรจน์เป็นที่สงสัยว่า อาศัยคอนเน็กชั่นกับนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการก้าวขึ้นสู้ตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานหรือไม่ เพราะเคยเรียนวปรอ.รุ่นเดียวกันทำนองนั้น แต่ความจริงอาจเป็นคนละเรื่อง
“เพราะไม่เคยทาบทาม หรือสนับสนุนก่อนหน้านั้นเลย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจจริงๆสนับสนุนชัดเจน จึงต้องประคองตัวเป็นมิตรกับทุกฝ่าย พยายามไม่เป็นศัตรูกับใครเลย”
เลิศวิโรจน์เป็นลูกชายผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ฐานะทางการเงินไม่เดือดร้อน และไม่เตยมีข่าวเสาะแสวงหาความมั่งคั่งจากตำแหน่ง แต่ความมุ่งมาดปรารถนาในอาชีพราชการนั้น นอกจากอธิบดีกรมชลประทานแล้ว ป้ายสุดท้ายน่าจะเป็นเก้าอี้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ
ในกรมชลประทาน ณ นาทีนี้ เรียกได้ว่า สามก๊ก ก๊กแรก เป็นก๊กบรรหาร มี ธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นหัวเรือใหญ่คุมน้อง ๆ ตั้งแต่ชลิตลงมาถึงระดับรองอธิบดีทุกคน ก๊กสอง เป็นก๊กที่เข้ากับบรรหารไม่ค่อยได้ มีเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯที่เคยเป็นรองอธิบดีกรมชลประทาน สถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้ากลุ่ม ก๊กสาม-เป็นเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานคนปัจจุบัน จะเรียกก๊กก็ไม่น่าจะใช่ เพราะมีแค่ตนเดียวโดดเดี่ยว
เลิศวิโรจน์ ไม่ใช่นักเรียนช่างชลประทานที่เป็นสายคุมการบังคับบัญชาภายในกรมชลประทานมาแต่ไหนแต่ไร เขาจบวิศวกรรมโยธาจากสหรัฐอเมริกา การไม่มีรุ่นพลอยทำให้ฐานสนับสนุนภายในกรมน้อยมาก แม้ขึ้นชั้นเป็นอธิบดีแล้ว ลูกน้องยังแสดงอาการแข็งขืน แข็งข้อ ต้องใช้วิธีการนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาประคองตัวรอดได้
โดยเฉพาะการประมูลโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย นักการเมืองคนกำกับอยู่ข้างหลังไม่เคยให้เลิศวิโรจน์เกี่ยวข้องเลย มอบให้ระดับรองๆอธิบดีเล่นเอง คุมเอง โดยตลอด บ่อยครั้งนักการเมืองกลุ่มนี้ใช้กรมชลประทานเป็นเซฟเฮ้าส์ เข้ามาสั่งการทุกฝีก้าวทุกโครงการ ทุกสำนัก ทำให้งบกลางโป่งนับพันหรือหลายพันล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น เพิ่งราถอยเมื่อทหารคสช.ยึดอำนาจ แต่ความคิดกลับมายังฝังอยู่ทุกลมหายใจ
แม้สายตาภายนอกมองว่า เป็นคนของพรรคเพื่อไทย เอาเข้าจริง เลิศวิโรจน์กลับถูกทุบถองในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.)ที่มีปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน โดยเฉพาะการจัดตั้งกระทรวงน้ำที่มุ่งหวังสลายกรมชลประทานอย่างที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
เมื่อเลิศวิโรจน์มาเป็นอธิบดีกรมชลประทาน โควต้าเก้าอี้ส่วนกลางเช่นรองปลัดฯ ผู้ตรวจฯก็ว่างเว้นจำเป็นต้องส่งใครไปนั่งแทน บรรดารองอธิบดีทั้งหลายไม่มีใครอยากไป เพราะเกรงไม่ได้กลับอีก แต่เมื่อนักการเมืองชี้นิ้วสั่งมา เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองอธิบดี หนีไม่ออกจำใจลุกจากเก้าอี้ไปเป็นผู้ตรวจฯ และไต่มาเป็นรองปลัดฯดูแลงานชลประทาน คู่ขนาน ชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดฯที่ต้องผันไปให้ดูแลงานเกษตรต่างประเทศแทน
ว่ากันว่า เรื่องนี้เลอศักดิ์น่าจะมีปัญหาทางใจกับเลิศวิโรจน์ระดับหนึ่ง แม้ไม่ใช่ผู้บงการตัวจริงก็ตาม อันที่จริงนอกจากบรรหารไม่พึงพอใจเลอศักดิ์ เพราะคนละก๊กแล้ว เลอศักดิ์ก็ไม่น่าเป็นที่พึงใจของปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯที่คุมงานด้านน้ำในช่วงน้ำท่วมที่เลอศักดิ์ออกมาปกป้องชลิต ถึงขั้นถูกสั่งหุบปากในที่ประชุมมาแล้ว
เลอศักดิ์ในปลายยุคพรรคเพื่อไทย ไม่เก็บความขุ่นข้องอยู่แต่ในใจ กลับกันยังขึ้นเวทีกปปส.ของสุเทพ เทิอกสุบรรณ ในยุคนั้น เปิดหน้าประกาศต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยอย่างเอาเป็นเอาตาย ท่ามกลางความแปลกใจว่า เป็นไปได้อย่างไร กินดีหมี หัวใจมังกร มาแต่หนไหน แต่เขามีแรงทะเยอทะยานทางการเมือง ซึ่งประเมินว่า เพื่อไทยหมดอนาคตแน่นอน
การตีตั๋วขึ้นเวที กปปส. เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยหวังว่าจะขึ้นอธิบดีกรมชลประทานเป็นบำเหน็จรางวัล
โชคไม่เข้าข้าง เพราะคนยึดอำนาจเป็นคสช. แทน กปปส.
เบื้องหลังการต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยในกระทรวงเกษตรฯ มีเลอศักดิ์เป็นทัพหน้าก็จริง แต่เบื้องหลังยังมีชลิต คอยเป็นทัพหลังให้การสนับสนุนแบบปิดลับอยู่ด้วย
แม้อาจจะต่างก๊ก แต่ทั้งสองก๊กนี้ก็ยังจับมือเกื้อกูลในบางครา เช่น เลอศักดิ์แก้ต่างให้ชลิตเรื่องน้ำท่วมใหญ่ หรือล่าสุด เลอศักดิ์สนับสนุนชลิตเป็นตัวแทนเพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ในนามสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน เช่นเดียวกับที่คนในสายของเลอศักดิ์ยังได้ดิบได้ดีอยู่ในกรมตลอดมา
ข่าวการล้มเก้าอี้อธิบดีกรมชลประทานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในข่ายทฤษฎีสมคบคิดผ่านสื่อบางฉบับที่อยู่ในคาถา เพราะมองตรงกันว่า เลิศวิโรจน์คือตัวปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องหาทางขจัดให้พ้นทาง โดยสองก๊กล้วนได้ประโยชน์แบบ win win
หนึ่ง เลอศักดิ์ได้กลับกรมชลประทานในฐานะอธิบดีจนถึงเกษียณในปี 2559 ใครก็อยากได้อยากเป็น
สอง ก๊กธีระ-ชลิตยังคงกดปุ่มควบคุมการทำงานในกรมฯได้เหมือนเดิม พ้น 2559 ที่เลอศักดิ์เกษียณยังมีโอกาสมากที่จะคุมกรมเต็มตัวในฐานะที่คนในก๊กตัวเองได้ขึ้นอธิบดีกรมชลประทานคนใหม่แทน
กล่าวโดยสรุป พรรคการเมืองบางพรรค ยังคงมีอิทธิพลในกระทรวงเกษตรฯและกรมชลประทานอย่างไม่เสื่อมคลาย โดยผ่านก๊วนและก๊กที่ตัวเองให้การสนับสนุนมาโดยตลอด
เป็นการบ้านสำหรับคสช.ที่พยายามไม่ให้การรัฐประหารครั้งนี้เสียของ และโดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่หนักหนาไม่แพ้ที่อื่น