รบ.ลุยสังคายนาระบบราชการ หวยออก “ไอซีที-ท่องเที่ยว-วัฒนธรรม” ส่อโดนยุบ พร้อมผุดกระทรวงน้ำ “หม่อมอุ๋ย” ฟุ้งสิ้นปียอดนักท่องเที่ยวพุ่ง ย้ำดันภาษีมรดกแน่ ห่วงสินค้าเกษตรราคาตก เร่งแก้ยางพาราลำดับแรก “ยงยุทธ” ลั่นต้องมุ่งสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่ทุจริต “อุดมเดช” จี้ส่วนราชการส่งการบ้าน คสช.เพื่อให้ติดตามและเสนอแนะรัฐบาลได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 ก.ย. หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายในภาพรวมของรัฐบาลแก้หัวหน้าส่วนราชการแล้ว ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายต่างๆ ชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลจะสำเร็จต้องขับเคลื่อนด้วย 1. งบประมาณ 2. อัตรากำลัง และ 3. ที่สำคัญสุดคือกฎหมาย ยิ่งเคร่งครัดว่าเราเป็นนิติรัฐ เคารพหลักนิติธรรม แปลว่าใช้กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ได้ใช้อำเภอใจ ถ้าไม่มีกฎหมายก็จะเป็นอุปสรรค รัฐจำเป็นต้องมีอำนาจ มีกฎหมายเป็นเครื่องมือการปกครอง รัฐบาลนี้มีเวลา 1 ปีบวกลบ ที่ต้องเผื่อเวลาออกกฎหมายลูก แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรออกมาแน่ใน 1 ปี แต่กว่าเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้ ต้องมาดูว่าจัดให้มีองค์กรอะไร เลือกตั้งกันอย่างไร แบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหน คนสมัครต้องสังกัดพรรคหรือไม่ จะตั้งพรรคอย่างไร ไม่อย่างนั้นรีบรวบรัดเลือกตั้ง 3-7 วันก็จะมีคนได้เปรียบเสียเปรียบ และหลังแถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว ต้องจัดลำดับกฎหมายใหม่ เลือกกฎหมายที่ตรงกับนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก เลือกลำดับสำคัญรองนายกฯ หารือนายกฯ ไปแล้ว โดยลำดับที่ 1 ให้สำคัญกฎหมายเป็นพันธะระหว่างประเทศ เช่นเกี่ยวกับอาเซียน สนธิสัญญามาสทริชท์แมนลิก
นายวิษณุกล่าวว่า ลำดับที่ 2 กฎหมายปฏิรูประบบราชการ แก้ปัญหาการทุจริต ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นรากเหง้าระบบราชการทั้งหมด โดยปฏิรูป 3 จุด คือ ปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐ ถึงเวลาทบทวนอย่างเป็นทางการ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องตั้งกระทรวงนั้นยุบกระทรวงนี้ อย่างปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นวาระแห่งชาติในการปฏิรูปโครงสร้าง แยกอุดมศึกษาออกกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ ตั้งกระทรวงน้ำ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ได้หรือไม่ และจุดที่ 2 ปฏิรูปวิธีปฏิบัติราชการ ในการให้บริการประชาชน ถ้ากฎหมายร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการออกมาเมื่อไหร่จะเป็นกฎหมายสำคัญที่สุดของประเทศ ที่ข้าราชการพลาดไม่ได้ เพราะจะเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อราชการ อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเรียกจากประชาชน แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ก็ต้องแก้ และจุดสุดท้าย 3. การปฏิรูปอัตรากำลังภาครัฐ ที่มีอยู่เป็นล้านว่าที่มีอยู่พอดี หรือน้อยไป และคิดค่าตอบแทนเป็นอย่างไร นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลต้องเกิด 3 แผน คือ แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ และแผนนิติบัญญัติ กระทรวงต้องทำแผนปฏิบัติราชการ ที่นายกฯ ใช้เป็นแผนนี้ตามงานทุก 3 เดือน ใช้ระบบผู้ตรวจราชการตามงานนี้ด้วย
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงหนึ่งว่า ขณะนี้รายได้เกษตรกรลดลงจึงพยายามหาวิธีการทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ และเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นการบริโภคในต่างจังหวัดจะขยับตัว สินค้าจำพวกสบู่และยาสีฟันจะขายออกทันที โดยอีก 10 วันจะประกาศมาตรการนี้ออกมา ส่วนเรื่องภาวะการท่องเที่ยว พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2557 เดือน ม.ค. 2.3 ล้านคน ต่อมา พ.ค.ลดลงเหลือ 1.7 ล้านคน และเดือน มิ.ย.1.5 ล้านคน พอยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวเดือน ก.ค.ขยับขึ้นเป็น 1.9 ล้านคน และเมื่อเดือน ส.ค.กลับมา 2 ล้านคนแล้ว จึงคิดว่าสิ้นปีจะกลับมาที่เดือนละ 2.3 ล้านคนเหมือนเดิม เรื่องการท่องเที่ยวก็คงจะปรับตัวได้ตามสบาย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวด้วยว่า จากนั้นมาตรการระยะที่ 2 จะปรับปรุงจุดอ่อนเศรษฐกิจที่มีอยู่ใหญ่ๆ มี 3-4 เรื่อง คือ 1. การปรับโครงสร้างภาษี โดยปรับวิธีการจัดเก็บให้ทั่วถึงมากขึ้น 2. ปรับปรุงโครงสร้างภาษีโดยการขยายฐานภาษีออกไปให้กว้างขึ้น และขอให้สบายใจว่าจะไม่สะเทือนประชาชนมากเกินไปเพราะจะไม่ไปแตะภาษีเงินได้ ขณะที่ภาษีสรรพสามิตนั้นรถยนต์มีการรั่วไหลเยอะ ต่อไปจะให้เป็นฐานเดียวกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ทั้งนี้ ในการขยายฐานภาษีที่จะดำเนินการ คือ การจัดเก็บภาษีมรดก และภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ตรงนี้มีคนกลัวกันมาก จึงอยากบอกว่าอย่ากลัวเพราะจะเป็นธรรมมาก อย่างภาษีมรดกใน 50 ล้านบาทแรกไม่ต้องจ่าย และมีข้อยกเว้นให้แก่ผู้ที่คู่สมรสที่เสียชีวิตไม่ต้องหาเงินมาจ่ายภาษี และกรณีของเกษตรกรตัวจริงที่ได้รับโอนที่ดินเป็นมรดกจะไม่ต้องจ่ายเงินเลยแน่นอน โดยหลักการจะจัดเก็บจากคนที่รวยเหลือล้นจริงๆ ที่อัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งได้ไปทดสอบกับเจ้าสัวแล้วบอกว่าเต็มใจจ่าย ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเอารายละเอียดมาชี้แจงในวันข้างหน้าโดยจะทำให้ชัดเจนที่สุด
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า รัฐบาลจะเร่งบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เกิดขึ้นมาในช่วงรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวในปี 2554-2555-2556 ที่ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สูงถึง 700,000 ล้านบาท ถ้าตามแผนเดิมทีวางไว้ต้องหาเงินมาทยอยใช้หนี้ใน 5 ปี ก็จะทำให้ไม่มีงบประมาณเหลือพัฒนาประเทศ จึงจะวางแผนใหม่โดยจะขยายระยะเวลาใช้หนี้ออกเป็น 30 ปีโดยในช่วง 10 ปีแรก โดยแนวทางข้างต้นจะทำให้สวยหรู ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ เดิมสินค้าเกษตรของไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด เช่น ยางพาราเป็นอันดับหนึ่ง น้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 แต่ข้าวเจอความชั่วไป 2 ปี เป็นอันดับที่ 3 ซึ่งจากนี้ขอเวลา 2-3 ปี ขอให้ไม่ต้องห่วง เพราะเชื่อว่าไทยจะกลับมาได้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นแชมป์มานาน อย่างไรก็ตาม ด้านการดูแลผลผลิตทางการเกษตร จะต้องทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี โดยปรับวิธีการให้เหมาะสม พืชแรกที่จะเร่งแก้ไขคือ ยางพารา เพราะปัจจุบันการใช้ยางพาราในประเทศมีสัดส่วนเพียง 10% จึงต้องหาแนวทางส่งเสริมเพิ่มขึ้น เช่น การส่งเสริมให้กลุ่มสหกรณ์แปรรูปเพิ่มมูลค่า ขณะเดียวกันยังต้องทำควบคู่กับภาคอุตสาหกรรมที่จะเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ และยังขอฝากให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมในเขตชุมชนอย่างรวดเร็ว เรื่องทั้งหมดถ้าหากทำได้สำเร็จเชื่อได้เลยว่าประชาชนจะแห่มากราบไหว้แน่นอน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อไปว่า ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ยุคดิจิตอลเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรม ทั้งธนาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ โรงพยาบาล แอนิเมชันของภาพยนตร์ เมื่อทุกประเทศเดินไปในทิศทางดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เทคโนโลยีกระจายไปในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเกษตร จึงได้ตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล (National Digital Economy) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการจากส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่างๆ จากศูนย์รวมจัดเดียวแล้วกระจายให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการในทิศทางเดียวกัน เช่น ให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนอตุสหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยี การตั้งกองทุนสนับสนุนเด็ก เยาวชน ให้ทำการศึกษาวิจัยผลงานเพราะเด็กไทยมีความรู้อย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมาเด็กไทยได้ส่งผลงานไปชิงรางวัลในต่างประเทศ 16 รางวัลปรากฏกว่ามีกว่า 10 รางวัลที่ภาคเอกชนต่างชาติซื้อลิขสิทธิ์ไปหาประโยชย์จากแนวคิดของเด็กไทย ขณะที่เอกชนไทยหรือรัฐบาล หน่วยงานของไทยกลับไม่นำมาใช้ประโยชน์ต่อประเทศ จึงน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเห็นผลเป็นรูปธรรมจึงมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยกร่างกฎหมายขึ้นอีก 2 ฉบับ เพื่อให้กระทรวงไอซีทีเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนิยาม เปลี่ยนบทบาท เป็นผู้ประสานร่วมกับองค์กรอิสระที่อยู่รอบ เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือซิป้า เมื่อกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแล้วคาดว่านโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลจะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อทุกส่วนราชการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
ขณะที่ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดประสงค์ของนโยบายด้านสังคมคือ เราต้องการมุ่งสู่สังคมที่มีความเป็นธรรม ไม่ทุจริต คนในสังคมมีความรู้ นำพาไปสู่ความเจริญ สุขภาพดี มีคุณธรรมที่สุจริต การทำงานในช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือ ไม่ใช่การทำงานเป็นไซโล แต่ทุกกระทรวงต้องทำงานเชื่อมโยงกัน รวมทั้งร่วมกับภาคประชาชนและเอกชนด้วย ทั้งนี้ ประเด็นหลักของนโยบายด้านสังคมประกอบด้วย 1. ลดความเหลื่อมล้ำ 2. ป้องกันการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ 3. ระบบการคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการชุมชน จะต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสังคมอาเซียน 4. แก้ปัญหาไร้ที่ดิน รุกล้ำเขตป่าสงวนพื้นที่ของรัฐ ซึ่งถือว่าอยู่ในปัญหาเร่งด่วน 5. การศึกษาเรียนรู้ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 6. เรื่องสาธารณสุข จะต้องวางรากฐานระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมและบูรณาการ 7. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการวิจัย และ 8. สร้างสังคมนวัตกรรม ส่งเสริมระบบ STEM ปฏิรูปกฎระเบียบ ข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อนวัตกรรม
ทางด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และรอง ผบ.ทบ.กล่าวว่า เราจะต้องร่วมกันปกป้องสถาบันด้วยชีวิตของพวกเรา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องเสริมเสร้างความมั่นคงของชาติ สร้างความเชื่อมั่น สร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องลดปัญหาความขัดแย้ง ลความเหลื่อมล้ำในสังคม จะต้องช่วยกันสร้างความเป็นธรรม สร้างความปรองดองสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย สำรวจทัศนคติ รับทราบปัญหา แล้วแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้จงได้ ส่วนเรื่องสื่อมีหลายส่วนราชการคุมสื่อในปัจจุบัน อยากฝากว่าทำอย่างไรให้สื่อเสริมสร้างความั่นคงให้กับรัฐบาลให้ได้ สร้างความเข้าใจ พยายามทำให้สื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้เกิดผลดีกับความมั่นคงของชาติ ที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มีส่วนน้อยที่ไปลงข่าวในทางเชิงลบไม่ถูกต้อง และไม่รู้ว่าเป็นการทำลายความมั่นของชาติ จึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ด้วย
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ทุกส่วนราชการต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่การใช้กำลังทหารอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดวังคือ ระวังกลุ่มเห็นต่างพยายามที่จะเคลื่อนไหวยกระดับขึ้นไปสู่สากล โดยยกประเด็นการใช้อาวุธขึ้นมา ซึ่งที่จริงแล้วเราไม่ได้เข้าสู่ระดับนั้น แต่พยายามบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหา แนวความคิดที่เขาต้องการที่จะแสดงออกคือ การกำหนดและดำเนินการเอง ซึ่งเราต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับองค์ระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องของการพูดคุยสันติสุข กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยมอบหมายให้สมช.ดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อน มีการปรับรายละเอียดในการดำเนินการ มีการติดต่อกับมาเลเซียแล้วเพื่อให้เป็นผู้อำนวยความสะดวก และเตรียมที่จะหารือในระดับต่อไป ในส่วนของการปฏิบัติในพื้นที่เราเน้นสื่อสารสร้างความไว้วางใจกับผู้ที่เห็นต่าง หากทำสิ่งเหล่านี้ระยะหนึ่งเชื่อว่า จะทำให้การแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นไปอย่างได้ผลมากยิ่งขึ้น เหตุการณ์น่าจะเบาบางลง
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ในฐานะเลขาธิการ คสช. เนื่องจาก คสช.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคู่ขนานกับรัฐบาล โดยให้ติดตาม ทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อ ครม. โดยช่วงที่ผ่านมาส่วนราชการ กระทรวงต่างๆ จะต้องให้ข้อมูลต่อ คสช. แต่ปัจจุบันไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมาแล้ว เพราะเข้าสู่ระบบบริหารราชการ แต่การที่นายกฯมอบหมายให้ คสช.ทำหน้าที่ติดตาม ให้ข้อคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล จึงอยากขอความร่วมมือกับทุกกระทรวงคล้ายๆ กับเดิมที่ผ่านมาให้ส่งข้อมูลมาให้ คสช. เพราะจำเป็นที่จะต้องรับรู้รับทราบแนวทางการดำเนินงานของท่าน แต่อาจจะกระชับเท่าที่จำเป็น จึงขอให้ส่งรายสัปดาห์และรอบเดือนด้วย เพราะสามารถติดตามได้ จึงอยากจะขอความร่วมมือไม่เช่นนั้น คสช.จะไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่นายกฯ มอบหมายได้