xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เสนอรัฐหนุนโค่นยางพาราปีละ 5 แสนไร่-ดันผลิตไฟฟ้าชีวมวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานส.อ.ท.ภาคใต้
ส.อ.ท.เสนอแนวทางดันราคายางพาราให้ปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาว แนะรัฐหนุนการโค่นไม้ยางพาราเป็นปีละ 5 แสนไร่ นำเศษไม้ยางพาราทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่นหรือ Wood Pellet ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล หวังพัฒนาเป็นเกษตรพลังงาน
นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้นต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการโค่นต้นยางเป็นปีละ 5 แสนไร่ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (กสย.) อยู่ประมาณปีละ 2.55 แสนไร่ และในจำนวนการโค่นดังกล่าวให้ส่งเสริมไปปลูกพืชอื่นทดแทนประมาณ 40% หรือราว 2 แสนไร่ คาดว่าภายใน 7 ปีก็จะลดการปลูกยางพาราได้ถึง 1 ล้านไร่ พร้อมกันนี้ให้ส่งเสริมการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ภาคใต้มีการปลูกยางพารา 11 ล้านไร่ แต่ทั่วประเทศปลูก 19 ล้านไร่ เฉพาะภาคใต้อายุยาง 25 ปีก็คิด 4.4 แสนไร่ ก็อยู่ที่ราว 5 แสนไร่ภาพรวมที่เห็นว่าน่าจะโค่นล้มได้” นายวิถีกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมนำมาเป็นเชื้อเพลิงในพลังงานทดแทนเฉพาะรากไม้ยางพารา 2.2 ล้านไร่ก็จะสามารถนำมาผลิตไฟได้ถึง 220 เมกะวัตต์ และยังมีส่วนอื่นๆ เช่น กิ่งไม้ ปลายไม้ รวมๆ แล้วไทยสามารถจะส่งเสริมนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าจากไม้ยางพาราได้สูงถึง 300-400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราอย่างมาก ดังนั้นรัฐเองควรจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างจริงจังเพิ่มความมั่นคงในระบบไฟฟ้า

“เราสามารถนำเศษไม้เหล่านี้มาเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรือ Wood Pellet ได้ การลงทุนตั้งโรงงานก็ใช้เงินไม่มาก ตลาดในประเทศก็ต้องการสูง ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และจีนก็มีความแพร่หลายในการนำไปผสมกับถ่านหินเพื่อลดมลภาวะ ความต้องการในอนาคตก็จะมีมากขึ้น เชื่อว่าจะเกิดโรงงาน Wood Pellet ได้ถึง 50 แห่ง” นายวิถีกล่าว

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และมีเพื่อนบ้านที่ล้วนมีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นธุรกิจเกษตรและพลังงานอย่างชีวมวลอัดแท่ง หรือ Biomass Pellet จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนหากรัฐส่งเสริมการปลูกพืชอย่างเป็นระบบ กำหนดโรดแมปการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจทั้งระบบ

“ไทยเราควรเลือกปลูกพืชที่ตลาดต้องการ เราไม่จำเป็นจะต้องครองอันดับ 1 ในการส่งออกพืชใดๆ แต่ส่งออกพืชที่ตลาดต้องการเท่านั้นก็จะตัดปัญหาการประกันราคา หรือจำนำออกไป สู่เกษตรอุตสาหกรรมและเกษตรพลังงาน” นายพิชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น