xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.แจงน้ำสีเขียวอ่างน้ำดิบนิคมฯ ภาคใต้เหตุจากมีค่าสาหร่ายสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กนอ.” ส่งเจ้าหน้าที่รุดตรวจสอบปรากฏการณ์น้ำสีเขียวที่อ่างเก็บน้ำดิบใกล้นิคมฯ ภาคใต้จังหวัดสงขลา ลั่นไม่ได้เกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานแต่พบมีค่าสาหร่ายสูง ชี้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ย้ำแหล่งน้ำดังกล่าวไม่ได้เป็นแหล่งน้ำเพื่อบริโภคอุปโภคชุมชน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณีชุมชนบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ปล่อยน้ำเสียลงในอ่างเก็บน้ำดิบ จากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่าคุณภาพน้ำดิบมีค่าของสาหร่ายสูง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อมีปัจจัยด้านสารอาหารและแสงแดดที่เหมาะสม

“แหล่งน้ำดังกล่าวเป็นอ่างเก็บน้ำดิบภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ซึ่งใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ ไม่ได้เป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคโดยตรง จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ปรากฏการณ์น้ำสีเขียวเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อในน้ำมีแร่ธาตุมากเกินกว่าที่พืชน้ำหรือสาหร่ายขนาดใหญ่ สิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสาหร่ายเซลล์เดียว และกลุ่มสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งเป็นกึ่งพืชกึ่งแบคทีเรีย กินอาหารได้เร็วกว่า จะเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำกลายเป็นสีเขียวขุ่น” นายวีรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้มีมาตรการเร่งดำเนินการ ดังนี้ มาตรการระยะสั้น การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง โดย 1. เก็บตัวอย่างน้ำไปทำการวิเคราะห์คุณภาพเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหา 2. ดำเนินการดูดสาหร่ายที่ลอยอยู่บนผิวน้ำนำไปกำจัด 3. สำรวจจุดเสี่ยงที่อ่างเก็บน้ำดิบอาจจะไหลสู่ภายนอก และดำเนินการปิดกั้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าน้ำจากอ่างเก็บน้ำดิบจะไม่ไหลสู่ชุมชน 4. ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ เพื่อให้น้ำมีการไหลวน ลดการเจริญเติบโตของสาหร่าย

มาตรการระยะยาว กนอ.มีวิธีการในการดำเนินการ ดังนี้ 1. มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาการควบคุมแหล่งเกิดสาหร่ายและการกำจัดสาหร่ายในอ่างเก็บน้ำดิบของนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลอ่างเก็บน้ำดิบในอนาคต 2. การติดตามวิเคราะห์คุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำดิบอย่างต่อเนื่อง 3. จัดเตรียม และจัดอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อใช้ในการควบคุมสาหร่าย เช่น บลูม ทุ่นลอย ฯลฯ 4. จัดเตรียม และจัดหาอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สาหร่าย 5. ดำเนินการบริหารจัดการบ่อหน่วงด้วยความระมัดระวัง มีการป้องกันไม่ให้น้ำไหลล้นอ่างน้ำดิบ 6. จัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านและชุมชนโดยรอบในเรื่องของปรากฏการณ์การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่าย (Algae Bloom)
กำลังโหลดความคิดเห็น