ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทยด้วยแล้ว ดินกลายเป็นขุมทรัพย์ตั้งต้นที่สามารถต่อยอดออกมาเป็นผลผลิตการเกษตร และอาหารในท้ายที่สุด องค์การสหประชาชาติ ไม่เพียงรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นวันดินโลก และเริ่มเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในปี 2557 นี้เท่านั้น หากยังกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีดินสากลอีกด้วย
สาเหตุเกิดจากการร่วมแรงใจขับเคลื่อนของสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาที่ดิน จนการพัฒนาที่ดินของประเทศไทยกลายเป็นที่สนใจของนานาชาติ
นายสมศักดิ์ สุขจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานการสำรวจจำแนกดิน สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน ขยายความปีดินสากลว่า สหประชาชาติต้องการให้ผู้คนในโลกนี้ตระหนักถึงปัญหาของดิน ไม่ว่าดินที่ยังดีอยู่หรือดินที่มีปัญหาเสื่อมสภาพจากการใช้ดินเพาะปลูก ซึ่งพืชจะดูดธาตุอาหารไปใช้ จนดินค่อยๆลดความสมบูรณ์ลงเรื่อยๆ ประจวบกับเกษตรกรขาดความรู้ก็มุ่งใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว จนกระทั่งดินเกิดปัญหาไม่สามารถใช้ในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
”สหประชาชาติต้องการสื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาของดิน เพราะดินคือตัวตั้งต้นของผลผลิตการเกษตรหรืออาหาร ซึ่งขณะนี้ประชากรโลกมีจำนวน 7,000 ล้านคน หรือจะเป็น 9,000 ล้านคน ในปี 2593 หากดินมีปัญหาวิกฤติ ก็จะกระทบต่อประชากรโลกหนักหนายิ่งกว่าที่ผ่านมา”
นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินวางแผนขับเคลื่อนปีดินสากล 2558 สำหรับประเทศไทย ด้วยโครงการใหญ่ 3 ด้านประกอบด้วย
1.ผลักดันให้มีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับทรัพยากรดิน 1 ครั้ง ซึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์ด้านดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 300 คน เพื่อนำเสนอผลงานด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนความเห็นการใช้ทรัพยากรดินในการผลิตอาหารรองรับประชากรโลก
2.ใช้ความสำเร็จของโครงการหมอดินอาสาของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาดินในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ เห็นว่าเป็นแม่แบบในการพัฒนาดินที่ประสบผลดีมาแล้วร่วม 20 ปี โดยอบรมให้ความรู้หมอดินอาสา ซึ่งมีเครือข่ายมากกว่า 70,000 คน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมหลักวิชาการไปสู่การปฏิบัติของเกษตรกรในพื้นที่ ล่าสุดประเทศออสเตรเลียก็ยังนำเอารูปแบบวิธีการหมอดินอาสาไปใช้แล้วเช่นกัน
“ 50 ปีก่อน ประเทศไทยจัดตั้งกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งไม่มีประเทศไหนแถบเอเชียให้ความสำคัญ จีนญี่ปุ่น ตั้งเป็นสถาบันวิจัยดินก็จริง แต่ไม่มีงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่อย่างกรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นวิสัยทัศน์กว้างไกลของผู้บริหารประเทศในยุคนั้น”
3.สร้างศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรดินประจำภูมิภาค โดยจำลองแนวคิดพิพิธภัณฑ์ดินในกรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดินสำหรับเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 12 เขตด้วยกัน ซึ่งจะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรดิน และการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกต้อง
“เกษตรกรไทยไม่ต้องเดินทางจากท้องถิ่นตัวเองเข้ามากรุงเทพฯ แต่สามารถเข้าไปที่ศูนย์เรียนรู้ในเขตต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เข้าใจทรัพยากรดินและใช้ประโยชน์จากดินได้ดีขึ้น และรู้วิธีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน สุดท้ายเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตด้วย”
นางกุลรัศมิ์กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเองประสบปัญหาดินเสื่อมโทรมค่อนข้างมากประมาณ 132 ล้านไร่ หรือ 72% ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ หากไม่เร่งแก้ปัญหานี้ต่อไปจะกระทบต่อประเทศไทย ทั้งด้านผลผลิต ต้นทุนการผลิต และฐานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องจากความเสี่ยงจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกต้องเหมาะสม
ที่สำคัญ ประเทศไทยจะประสบความสูญเสียสถานภาพครัวโลก หรือแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลกไป รวมทั้งสูญเสียโอกาสในการแข่งขันด้านอาหารระหว่างประเทศ
ปีดินสากล พ.ศ.2558 จึงเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรดิน และเร่งหาทางปรับปรุง เพื่อให้ประชากรโลกมีอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะประเทศไทยมีการบ้านยิ่งกว่านั้น คือต้องพยายามดำรงสภาพครัวโลกหรืออู่ข้าว อู่น้ำ ให้มั่นคงด้วยการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาดินให้บังเกิดผลสำเร็จ