ส.อ.ท.หนุนโรดแมป SMEs วาระแห่งชาติหวังเร่งขับเคลื่อนตามแผน 3-5 ปีปั้น SMEs ไทยสู่ตลาด mai เพิ่มขึ้นเพื่อระดมทุนสร้างความเข้มแข็งรับ AEC ระยะสั้นภายใน 1 ปีเสนอให้แยกงบประมาณพัฒนาออกจากกระทรวงต่างๆ ให้ชัดไม่มีแฝงเช่นปัจจุบันหวังดัน GDP SME จาก 37% ของ GDP ประเทศกลับไปสู่จุดเดิม 42% และระยะยาวเพิ่มสัดส่วนเป็น 50%
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแผนดังกล่าวระยะยาวใน 3-5 ปีข้างหน้าจะมีส่วนสำคัญในการสร้าง SMEs ให้เข้มแข็งและผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai ) ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการระดมทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลโดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558
“ปัจจุบัน SMEs ไทยเรามีปัญหาเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุนเนื่องจากสถาบันการเงินมีเงื่อนไขการกู้ที่เข้มงวดตามสภาพธุรกิจ ซึ่งตามแผนที่จะผลักดันให้ SMEs เป็นวาระแห่งชาติจะมีขั้นตอนในการสร้างศักยภาพให้ SMEs มีความเข้มแข็งในทุกๆ ด้าน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ก็จะมีศักยภาพขึ้น ซึ่งล่าสุดทาง คสช.เองก็ได้มีการแยกสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับข้อเสนอของ ส.อ.ท.ในการพัฒนา SMEs ตามแผนดังกล่าวแบ่งเป็นระยะสั้น 6เดือน-1 ปี ได้เสนอให้กำหนดกรอบงบประมาณในการพัฒนาออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์และอื่นๆ ให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมางบประมาณเหล่านี้มีการแอบแฝงอยู่แต่ละที่ทำให้การใช้เงินไม่เกิดประสิทธิภาพต่อการพัฒนา เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานทำงานแบบบูรณาการไปในทางเดียว โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของ SMEs ที่อดีตเคยมีสัดส่วน 42% ของ GDP ประเทศแต่ปัจจุบันอยู่ที่ 37% ให้กลับไปยังจุดเดิมคือ 42%
“ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองไทยได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ SMEs ให้ล้มหายตายจากไปมากพอสมควร แต่ขณะนี้ที่เหลือถือว่ามีความเข้มแข็งไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ระยะสั้นเราก็จะต้องเร่งให้เขาเหล่านี้ที่ฟื้นตัวไม่กลับไปย่ำแย่อีก และก็มั่นใจว่าช่วงครึ่งปีจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
ระยะที่ 2 (2-3 ปี) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา SMEs มีการจัดทำดัชนีชี้วัดผลสำเร็จ หรือ KPI โดยให้รายงานผลการดำเนินงานเป็นไตรมาสต่อคณะกรรมการบริหาร สสว. หรือบอร์ด สสว. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน เป็นต้น
ระยะที่ 3 (3-5 ปี) มีการสนับสนุนให้ SMEs มีช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย โดยเฉพาะในตลาด mai ฯลฯ มีการจัดทำเรตติ้ง รวมถึงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย SMEs นิคมอุตสาหกรรม SMEs กองทุนส่งเสริมการไปลงทุนยังต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายสูงสุดในระยะยาวนี้จะผลักดันให้ GDP SMEs มีสัดส่วนเป็น 50% ของ GDP ประเทศ