xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ถก ส.อ.ท. 18 ส.ค.ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมนำทัพผู้บริหารถกขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจร่วม ส.อ.ท. 18 ส.ค.นี้หลังตั้งคณะทำงานร่วม 4 ชุดดูแลใกล้ชิด สุดปลื้มยอดขอ รง.4 (ม.ค.-ก.ค.) 2,212 แห่งเงินลงทุนทะลุ 2.11 แสนล้านบาท แนวโน้มไตรมาส 4 มั่นใจยอดกระฉูดหลังปรับร่นเวลาอนุญาตเหลือ 30 วันทำได้จริง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 18 สิงหาคม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อบูรณาการร่วมการทำงานกับเอกชนหลังจากการหารือร่วมกับ ส.อ.ท.เมื่อเดือน ก.ค. 57 ได้เห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะทำงานการปรับปรุงการอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม 2. คณะทำงานกำกับโรงงานให้ปฏิบัติตามกฏหมาย 3. กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และ 4. การต่อต้านคอร์รัปชัน

“คณะทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมกับ ส.อ.ท.จะมีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกเดือน และเดือน ส.ค.นี้ทาง ส.อ.ท.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งการตั้งคณะทำงาน 4 ชุดล่าสุดได้กำหนดให้มีตัวแทนจากฝ่ายละ 3 คนเข้าร่วมในคณะทำงานทุกชุดซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วซึ่งจะทำให้อุปสรรคการลงทุนต่างๆ หมดไป” นายวิฑูรย์กล่าว

สำหรับการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทั่วประเทศผ่านหน่วยงานอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 57) มีทั้งสิ้น 2,212 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 211,314 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 60,692 ซึ่งมีทิศทางลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการอนุญาต รง.4 ที่ 2,339 โรงงาน เงินลงทุน 194,535 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังกระทรวงอุตสาหกรรมลดขั้นตอนการพิจารณา รง.4 ตั้งแต่ 1 ก.ค.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทำให้เดือน ก.ค.มีการอนุญาตรง.4 จำนวน 241 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 43,581 ล้านบาท ดังนั้นแนวโน้มการอนุญาตรง.4 ไตรมาส 4 จะดีขึ้น

ทั้งนี้ การอนุญาตโรงงานในกรอบใหม่ 30 วันคาดว่าจะเห็นชัดเจนในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้จริงนับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง โดยการอนุญาตโรงงานที่ใช้เวลาเร็วขึ้นได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกำกับอย่างเข้มงวด ซึ่งสะท้อนจากยอดคำร้องเรียน 10 เดือน (1 ต.ค. 56-31 ก.ค. 57) มีการร้องเรียน 202 เรื่อง ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดร้องเรียน 274 เรื่อง โดยเรื่องหลักๆ ที่มีการร้องเรียน ได้แก่ 1. กลิ่น 2. ฝุ่นละออง 3. น้ำเสีย ส่วนจำนวนเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น 115 ครั้งลดลง 3% โดยเหตุฉุกเฉินคือ ไฟไหม้ 66% ระเบิด 10% และอุบัติเหตุ 8%


กำลังโหลดความคิดเห็น